หลายปัจจัย กดดันการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทำให้ปิดตลาดวันอังคาร (20 มิ.ย.66) ลดลงเป็นวันที่ 2 นักลงทุน เริ่มต้นสัปดาห์ใหม่ หลังจากที่มีวันหยุดยาว ขายทำกำไร
-ดาวโจนส์ ลดลง 245.25 จุด (0.72 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 34,053.87 จุด
-เอสแอนด์พี ลดลง 20.88 จุด (0.47 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 4,388.71 จุด
- แนสแดค ลดลง 22.28 จุด (0.16 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 13,667.29 จุด
หลังจากก่อนหน้านี้ หุ้นวอลล์สตรีท ดีดตัวขึ้น
ปัจจัยที่มีผลในการลงทุน
-สัญญาณเศรษฐกิจโลกอ่อนแอ
-นักลงทุนติดตามนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) แถลงต่อที่ประชุมสภาคองเกรส คืนวันนี้(21 มิ.ย.66) ตามเวลาในไทย ก่อนหน้านี้ นายพาวเวลล์ แถลงว่า ยังไม่ได้ตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ย ในการประชุมรอบต่อไปของเฟดในเดือน ก.ค.66 คาดการณ์ว่าในช่วง 2ไตรมาสสุดท้ายของปี อาจจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ย
-ความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจจีน หลังจากธนาคารกลางจีน (PBOC) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (LPR) ประเภท 1 ปีลง 0.10% สู่ระดับ 3.55% จากระดับ 3.65% ซึ่งเป็นการปรับลดดอกเบี้ยดังกล่าวครั้งแรกในรอบ 10 เดือน พร้อมกับปรับลดอัตราดอกเบี้ย LPR ประเภท 5 ปีลง 0.10% สู่ระดับ 4.2% จากระดับ 4.3% ซึ่งเป็นการปรับลดดอกเบี้ยดังกล่าวครั้งแรกในรอบ 10 เดือนเช่นกัน อัตราดอกเบี้ย LPR ประเภท 1 ปีของจีนเป็นดัชนีวัดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของภาคเอกชน ส่วนอัตราดอกเบี้ย LPR ประเภท 5 ปีเป็นดัชนีวัดทิศทางอัตราดอกเบี้ยของภาคครัวเรือน ซึ่งรวมถึงอัตราดอกเบี้ยเพื่อการกู้จำนอง
ความเคลื่อนไหวดังกล่าว มีขึ้นหลังจากเศรษฐกิจจีน ส่งสัญญาณชะลอตัวลงอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา ข้อมูลทางเศรษฐกิจเมื่อเร็วๆนี้ที่แสดงให้เห็นว่าภาคค้าปลีกและภาคโรงงานของจีนไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
ส่วนปัจจัยบวกที่ตลาดติดตาม คือ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดเผยว่า ตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านพุ่งขึ้นสู่ระดับ 1.63 ล้านยูนิต ในเดือนพ.ค. 66 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 13 เดือน และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 1.39 ล้านยูนิต จากระดับ 1.24 ล้านยูนิตในเดือนเม.ย.66 ส่วนการอนุญาตก่อสร้างบ้านเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 1.49 ล้านยูนิตในเดือนพ.ค.66 สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.42 ล้านยูนิต
ราคาทองคำ ปิดตลาดวันอังคาร ลดลง หลังดอลลาร์แข็งค่าขึ้น จากข้อมูลภาคอสังหาริมทรัพย์
-ราคาทองคำโคเม็กซ์งวดส่งมอบเดือน ส.ค.66 ลดลง 23.50 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,947.70 ดอลลาร์ต่อออนซ์
#หุ้นดาวโจนส์
#เศรษฐกิจจีน
#เฟด
CR:CNBC