วันนี้ (20 มิ.ย.66) เวลา 08.30 น.สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เปิดให้ ส.ส.ใหม่ เข้ารายงานตัวที่ชั้น B1 อาคารรัฐสภา เป็นวันแรก หลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต และแบบบัญชีรายชื่อ ครบทั้ง 500 คน เมื่อวานนี้ (19 มิ.ย.66)
โดย ส.ส.คนแรกที่มารายงานตัว ในเวลา 09.30 น. คือ นพ.ภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ ส.ส. ศรีสะเกษ เขต 4 พรรคเพื่อไทย โดย นพ.ภูมินทร์ เปิดเผยว่า การกลับมาครั้งนี้ ถือเป็นการกลับมาในรอบเกือบ 20 ปี ทั้งดีใจ ตื่นเต้น และภูมิใจ ไม่ได้ตั้งใจจะมารายงานตัวเป็นคนแรกของสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ แต่รู้สึกตื่นเต้น จึงเดินทางมาแต่เช้า จึงทราบว่ามารายงานตัวคนแรก แม้ว่าทางพรรคเพื่อไทยนัดรายงานตัวในวันที่ 22 มิ.ย.ก็ตาม โดยสิ่งแรกที่จะทำหลังเป็น ส.ส. คือ การเสนอกฎหมายหลายเรื่องเพื่อแก้ปัญหาให้กับประชาชน เช่น ที่ดินทำกิน การลดรายจ่ายเพิ่มรายได้
ส่วนคนที่ 2 ที่มารายงานตัว คือ นายภูมิพัฒน์ พชรทรัพย์ ส.ส.นครพนม เขต 1 พรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า เป็น ส.ส.สมัยที่ 2 แล้ว ซึ่งจริงๆ แล้วพรรคเพื่อไทย นัดรายงานตัวพร้อมกันในวันที่ 22 มิ.ย. แต่ตนติดภารกิจจึงมารายงานตัวก่อน
ส.ส.คนที่ 3 ที่มารายงานตัว คือ นายณัฐชนนท์ ศรีก่อเกื้อ ส.ส.สงขลา พรรคภูมิใจไทย ตามมาด้วย พลตำรวจตรี สุรินทร์ ปาลาเร่ ส.ส.จังหวัดสงขลา พรรคประชาธิปัตย์
ด้าน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา เขต 1 พรรคพลังประชารัฐ ไปรับหนังสือรับรองจาก กกต. พร้อมเปิดเผยว่า นอกจากจะมารับหนังสือรับรองสมาชิกภาพ ส.ส.แล้ว ยังได้รับมอบอำนาจให้รับหนังสือรับรองแทน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่ติดภารกิจประชุมคณะรัฐมนตรี โดยในช่วงบ่ายนี้ จะเดินทางไปรายงานตัวพร้อมกันที่รัฐสภา ส่วนแนวทางการเมืองหลังจากนี้ ที่ผ่านมาก็มีการพูดคุยกันภายในพรรค แต่เป็นมารยาททางการเมืองและต้องการให้เกียรติพรรคที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุดในการจัดตั้งรัฐบาล ดังนั้นพรรคพลังประชารัฐ จะยังคงอยู่นิ่งๆ ไปจนกว่าจะมีการจัดตั้งรัฐบาล
ส่วนกระแสข่าวว่า พรรคพลังประชารัฐจะข้ามขั้วไปจับมือกับพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลนั้น ยืนยันว่า ที่ผ่านมาไม่เคยมีดีลลับ เป็นเพียงกระแสข่าวทางการเมือง เป็นเรื่องที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ของหลายฝ่าย ในฐานะที่ตนใกล้ชิดกับ พล.อ.ประวิตร ยืนยันว่าไม่ได้มีการคุยเรื่องนี้
ขณะที่การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี จะมีการประชุม ส.ส.ของพรรค เพื่อหารือถึงทิศทางการลงมติ ซึ่งต้องเป็นไปตามมติของพรรค แต่ต้องไม่ลืมว่า ส.ส. มีทั้งหมด 500 คน และการเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นเรื่องของ 2 สภา ต้องเคารพตามรัฐธรรมนูญ ควรให้พรรคที่มีเสียงข้างมากในการจัดตั้งรัฐบาลก่อน ส่วนจะโหวตเลือกให้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกลหรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส ตอบว่า ขึ้นอยู่กับมติพรรค สำหรับการเลือกประธานสภาฯ ก็มองว่า เป็นสิทธิของ ส.ส.และทุกพรรคมีสิทธิเสนอชื่อประธานสภา ไม่จำเป็นจะต้องสงวนสิทธิให้กับพรรคที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุดเท่านั้น แต่ในส่วนของพรรคพลังประชารัฐยังไม่ได้คุยกัน
#สสใหม่รายงานตัว
#รัฐสภา
CR ขอบคุณภาพ เพจเฟซบุ๊ก วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา