เปิดชื่อ 4 ชาติสมาชิกอาเซียน ไม่ร่วมประชุมอย่างไม่เป็นทางการกรณีเมียนมา ที่ไทย

19 มิถุนายน 2566, 18:53น.


          รอยเตอร์รายงาน รมว.ต่างประเทศชาติสำคัญของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(อาเซียน) ทั้งสิงคโปร์ มาเลเซีย  ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ไม่มาร่วมการประชุมอย่างไม่เป็นทางการที่รัฐบาลไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมระหว่างวันที่ 18-19 มิถุนายน หลังถูกวิจารณ์ว่าเป็นการประชุมที่มุ่งจะให้ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมากลับเข้ามามีส่วนร่วมกับอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง ในขณะที่อาเซียนได้มีมติห้ามไม่ให้ผู้แทนจากรัฐบาลทหารเมียนมาเข้าร่วมการประชุมของอาเซียน  หลังรัฐบาลทหารเมียนมา ไม่ยอมปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อ เพื่อปูทางสู่การสร้างสันติภาพตลอด 2 ปีกว่าที่ผ่านมา นับตั้งแต่นายพลอาวุโสตาน ฉ่วย เป็นหัวหน้าคณะทหารก่อรัฐประหารยึดอำนาจล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564



          รอยเตอร์เผยว่า รัฐบาลไทยได้ส่งจดหมายเชิญล่วงหน้าเพียง 4 วันก่อนจะถึงกำหนดการประชุม ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 18 มิถุนายน ที่ผ่านมา



          ก่อนหน้านี้ วิเวียน บาลากริชนันรมว.ต่างประเทศสิงคโปร์ แสดงความเห็นเมื่อวันศุกร์ที่ 16 มิถุนายนว่า มันเร็วเกินไปที่จะกลับไปมีส่วนร่วมกับรัฐบาลทหารเมียนมาอีกครั้งในระดับการประชุมสุดยอดผู้นำหรือแม้แต่การประชุมระดับรมว.ต่างประเทศ



          ในขณะที่รัฐบาลมาเลเซียจะไม่ส่งรมว.ต่างประเทศมาร่วมการประชุมครั้งนี้ ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ   และมีความเห็นว่า รัฐบาลมาเลเซียมีจุดยืนที่มั่นคงในการโดดเดี่ยวนายทหารระดับสูงของเมียนมา ส่วนฟิลิปปินส์ไม่ตอบคำถามของรอยเตอร์



          ด้านกระทรวงการต่างประเทศของไทยได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงถึงการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งนี้ว่า เป็นการประชุมพบปะสนทนาอย่างไม่เป็นทางการของกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งในเมียนมา ซึ่งมีผู้แทนระดับสูงจาก สปป.ลาว กัมพูชา เมียนมา อินเดีย จีน บรูไน เวียดนาม เข้าร่วม



        ไทยเคยจัดการประชุมอย่างไม่เป็นทางการเกี่ยวกับเมียนมาแล้วหลายครั้ง ในหลากหลายรูปแบบและหลายระดับ ซึ่งได้จัดการประชุมระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมาแล้ว ๒ ครั้ง โดยครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๓ ซึ่งทุกครั้ง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้แจ้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของประเทศอาเซียนทราบและเชิญเข้าร่วมการประชุมด้วย รวมทั้งเคยจัดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเมียนมาได้พบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอินโดนีเซีย รวมทั้งพบกับผู้แทนของสหประชาชาติในโอกาส การพูดคุยเป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานของการทูตทั่วโลก เพื่อแสวงหาทางออกโดยสันติ ซึ่งหลักการของอาเซียนก็เน้นย้ำการปรึกษาหารือ (consultations) การร่วมมือ (cooperation) และฉันทามติ (consensus) ตั้งแต่อาเซียนเพิ่งเริ่มก่อตั้ง ทั้งยังเน้นเรื่องการไม่เข้าไปแทรกแซงกิจการภายในระหว่างกัน



          ในฐานะประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับเมียนมาถึง ๒,๔๐๐ กิโลเมตร ไทยต้องการเห็นสันติภาพและเสถียรภาพกลับคืนสู่เมียนมาอย่างยั่งยืน โดยสนับสนุนการพูดคุยกันเพื่อหาทางออกโดยสันติวิธีและยุติการใช้ความรุนแรง การสู้รบตามชายแดนมีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศไทย ทั้งด้านการค้าชายแดนที่มีมูลค่ากว่า ๒ แสนล้านบาทความมั่นคงทางพลังงาน การลักลอบค้ายาเสพติด การลักลอบค้าอาวุธ แก๊งคอลเซ็นเตอร์และอาชญากรรมข้ามชาติต่าง ๆ ซึ่งเป็นปัญหาประจำที่เกิดขึ้น โดยไทยไม่อาจรั้งรอในการแก้ปัญหาได้



          ตลอดเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้กับประชาชนเมียนมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นในภาวะภัยการสู้รบและภัยธรรมชาติ



 



CR:https://www.mfa.go.th/th/content/informal-discussion-myanmar?cate=5d5bcb4e15e39c306000683d



#อาเซียน



#ความขัดแย้ง



#เมียนมา

ข่าวทั้งหมด

X