สถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 11 - 17 มิถุนายน 2566 พบ ผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาล (รายสัปดาห์) จำนวน 2,158 คน เฉลี่ยรายวัน จำนวน 308 คน/วัน
ผู้เสียชีวิต (รายสัปดาห์) จำนวน 60 ราย เฉลี่ยรายวัน จำนวน 8 ราย/วัน
ผู้ป่วยสะสม 25,991 คน (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2566)
เสียชีวิตสะสม 623 ราย(ตั้งแต่ 1 มกราคม 2566)
ผู้ป่วยปอดอักเสบ 296 คน ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 186 คน
ก่อนหน้านี้ ดร.ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร ประธานกรรมการบริหารฝ่ายพัฒนาภูมิปัญญาไทย มูลนิธิ รพ. อภัยภูเบศร เปิดเผยในงานเสวนา “ฟ้าทะลายโจร สมุนไพรพื้นบ้านจากทางเลือก สู่ทางรอด” ในวันเสาร์ที่ 17 มิถุนายน 2566 ข้อมูลที่น่าสนใจ พบว่า สเปรย์ฟ้าทะลายโจรมีประสิทธิผลบรรเทาอาการเจ็บคอ อาการกลืนลำบากและอาการไอ ได้ไม่แตกต่างจากยาเปรียบเทียบในท้องตลาดที่เป็นผลิตภัณฑ์จากสารสกัดสมุนไพรต่างประเทศ แต่ฟ้าทะลายโจรสามารถลดระยะเวลาการรักษาอาการเจ็บคอและอาการกลืนลำบากได้เร็วกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยน่าจะเนื่องมาจากฤทธิ์ลดการอักเสบที่โดดเด่นของฟ้าทะลายโจร นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์สเปรย์จากสารสกัดฟ้าทะลายโจรของไทยยังมีราคาถูกกว่าผลิตภัณฑ์จากสารสกัดต่างประเทศ ที่สำคัญคือเงินตราหมุนเวียนอยู่ในประเทศ สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรอย่างแท้จริง
ฟ้าทลายโจรยังช่วยลดการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งการเกิดลิ่มเลือดอุดตันหลังการติดเชื้อโควิด-19 นั้นเป็นปัญหาสำคัญที่อาจมีความรุนแรงจนถึงแก่ชีวิตได้โดยเฉพาะการอุดตันในอวัยวะสำคัญ เช่น สมอง ปอด หัวใจ ฯลฯ และถึงแม้ว่าจะเป็นลิ่มเลือดเล็กๆ ไปอุดตันตามหลอดเลือดเล็กๆ ก็สามารถนำไปสู่ความเสียหายของเนื้อเยื่อของอวัยวะนั้นๆ ทำให้เกิดอาการลองโควิด
นับเป็นผลจากการศึกษาการใช้ฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) โดยอาจารย์จากมหาวิยาลัยมหิดลเป็นผู้ทำการศึกษา จากการวิจัย proteomics (โปรตีโอมิกส์) พบว่า พลาสมาของผู้ป่วยที่กินยาฟ้าทะลายโจรชนิดผงบดหยาบที่มีแอนโดรกราโฟไลด์ขนาด 180 มิลลิกรัม/วัน เป็นเวลา 5 วัน มีโปรตีนที่มีส่วนช่วยลดความรุนแรงของโรคโควิด-19 ที่เกิดจากลิ่มเลือดอุดตันได้ ซึ่งถือเป็นการค้นพบครั้งแรกของโลกถึงฤทธิ์ฟ้าทะลายโจร ลดการเสียชีวิตจากการเกิดลิ่มเลือดอุดตันและความทุกข์ทรมานจากลองโควิดได้ แต่ยังศึกษาวิจัยเพิ่มเติมอีกในอนาคต
#โควิด19