กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รายงานสถานการณ์เหตุการณ์แผ่นดินไหวในทะเลขนาด 6.0 เมื่อเวลา 08.40 น. ที่ระดับความลึก 10 กิโลเมตร บริเวณอ่าวเบงกอล นอกชายฝั่งทางตอนใต้ของประเทศเมียนมา ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของอำเภอพบพระ จังหวัดตาก ประมาณ 289 กิโลเมตร ห่างจากกรุงเทพมหานคร ประมาณ 490 กิโลเมตร และมีแผ่นดินไหวตาม (Aftershock) จำนวน 1 ครั้ง ขนาด 3.6 เวลา 08.57 น.
นายสุวิทย์ โคสุวรรณ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่ปรึกษาทางการบริหารจัดการทรัพยากรธรณี กรมทรัพยากรธรณี เปิดเผยว่า สถานการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ มีสาเหตุเกิดจากการเคลื่อนตัวของแนวรอยเลื่อนสะกาย ในประเทศเมียนมา ตามแนวระนาบแบบเหลื่อมขวา ซึ่งมีอัตราการเคลื่อนตัวประมาณ 2 เซนติเมตรต่อปี ผลกระทบ ประชาชนสามารถรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว ดังนี้
1. กรุงเทพมหานคร 22 เขต (พื้นที่เขตดุสิต จตุจักร บางเขน สีลม ลาดพร้าว บางพลัด ราชเทวี ทุ่งครุ ปทุมวัน ห้วยขวาง หลักสี่ ดินแดง พญาไท คลองเตย ราษฎร์บูรณะ บางขุนเทียน หนองแขม คลองสาน สาทร บางรัก สวนหลวง คันนายาว )
2. จังหวัดนนทบุรี อำเภอปากเกร็ด อำเภอเมือง
3. จังหวัดปทุมธานี เทศบาลนครรังสิต
เนื่องจาก กรุงเทพมหานคร รองรับด้วยชั้นดินเหนียวอ่อน เมื่อมีแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวจากระยะไกล จะสามารถขยายคลื่นแผ่นดินไหวได้มากถึง 3 เท่า ส่งผลให้ประชาชนบนอาคารสูงในเขตกรุงเทพมหานคร นนทบุรี และจังหวัดปทุมธานี รับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนในครั้งนี้ได้ เบื้องต้นยังไม่มีรายงานความเสียหาย
ทั้งนี้ จากสถิติการเกิดแผ่นดินไหวในรอบ 5 ปีย้อนหลัง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561- 2566 เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 3.1-5.4 รวมจำนวนทั้งสิ้น 28 ครั้ง โดยมีขนาดมากกว่า 5.0 จำนวน 3 ครั้ง
#แผ่นดินไหว
#เมียนมา