กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานว่า เกิดแผ่นดินไหวเมื่อเวลา 08.40 น.วันที่ 19 มิ.ย.66 บริเวณนอกชายฝั่งทางตอนใต้ของประเทศเมียนมา ขนาด 6.0 ลึก 10 กิโลเมตร ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของ อ.พบพระ จ.ตาก ประมาณ 289 กิโลเมตร ได้รับแจ้งว่ารู้สึกสั่นไหวบริเวณ จ.นนทบุรี และ กรุงเทพฯ
จส.100 ได้รับแจ้งเหตุจากประชาชนที่อยู่ในหลายพื้นที่ว่าอยู่บนตึกสูง รับรู้ถึงแรงสั่นไหว สังเกตผ้าม่าน และโคมไฟ มีการสั่นไหว และรู้สึกเหมือนหน้ามืด บางออฟฟิส ได้อพยพพนักงานลงมา ตามมาตรการซ้อมแผ่นดินไหว
คุณประสาน สังวาลเดช ผู้อำนวยการกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา อธิบายกับจส.100 เรื่องแผ่นดินไหวขนาด 6 เมื่อเวลา 08.40 น.วันที่ 19 มิ.ย.66 บริเวณทะเลอันดามัน ประเทศเมียนมา ศูนย์กลางห่างจากไทย 500 กิโลเมตร รับรู้ถึงแรงสั่นไหวได้ในพื้นที่ภาคกลาง กรุงเทพฯ ทุกเขต โดยเฉพาะคนที่อยู่บนตึกสูง และ จ.นครปฐม เป็นต้น สาเหตุที่ทำให้กรุงเทพฯ รับรู้แรงสั่นสะเทือน เพราะพื้นผิวดินเป็นดินอ่อน หากแผ่นดินไหวจะรับรู้ได้สำหรับตึกสูงขนาด10 ชั้นขึ้นไป
แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นเป็นรอยเลื่อนสะกาย (Sagiang Fault) ประมาณ 25-45 วินาที และเป็นแผ่นดินไหวหลัก หลังจากนี้จะเกิดอาฟเตอร์ช็อก ขนาด 4-2 ลดลงตามลำดับ ขอให้สบายใจได้สำหรับประเทศไทย เนื่องจาก ความเสี่ยงอันตรายได้ผ่านไปแล้ว แผ่นดินไหวครั้งนี้ มีขนาดความแรง ระยะทางไม่ไกลมากจากประเทศไทย ทำให้พื้นที่ภาคกลางรับรู้ได้ แต่หากรอยเลื่อนขยับเข้ามาใกล้ ก็อาจจะเกิดความเสียหายได้
รอยเลื่อนสะกาย เป็นหนึ่งในรอยเลื่อนมีพลังที่ใหญ่และสาคัญที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นรอยเลื่อนที่มีศักยภาพ สามารถที่จะเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง รอยเลื่อนสะกาย เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาดมากกว่า 7.0 มาแล้ว ไม่น้อยกว่า 6 ครั้ง นับตั้งแต่ปีพ.ศ.2493
#แผ่นดินไหว
#เมียนมา
CR:ขอบคุณข้อมูล-ภาพ กรมอุตุนิยมวิทยา