รัฐทางใต้ของสหรัฐฯ เผชิญคลื่นความร้อน หลายพื้นที่มีอุณหภูมิสูงเป็นสถิติใหม่

16 มิถุนายน 2566, 09:54น.


          รัฐทางใต้ของสหรัฐฯ โดยเฉพาะเท็กซัส ลุยเซียนาและฟลอริดากำลังเผชิญกับคลื่นความร้อน อุณหภูมิในบางพื้นที่สูงสุดเป็นสถิติใหม่ หน่วยงานบริการด้านอากาศแห่งชาติ (National Weather Service) รายงานว่า ในช่วงเที่ยงวันของวันพฤหัสบดี (15 มิ.ย.66) ประชากรมากกว่า 35 ล้านคนได้รับคำแจ้งเตือนอันตรายจากคลื่นความร้อน ซึ่งจะปกคลุมพื้นที่ไปจนถึงสุดสัปดาห์ที่ยังเป็นวันหยุดยาว 3 วัน เนื่องในวันจูนทีนธ์ (Juneteenth) 19 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันรำลึกถึงการเลิกทาสในสหรัฐฯ



          โดยในรัฐเท็กซัส มีหลายเมือง เช่น ดัลลัส ฮิวสตัน และออสติน มีระดับอุณหภูมิสูงถึง 46 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นระดับอุณหภูมิที่สูงสุดเป็นสถิติใหม่



          นักวิทยาศาสตร์ด้านอากาศ ระบุว่า ความถี่และความรุนแรงของสภาพอากาศในสหรัฐฯ คือปัญหาภาวะอากาศเปลี่ยนแปลง ซึ่งเกิดจากฝีมือมนุษย์





          เมื่อวันพุธ (14 มิ.ย.) มีพายุทอร์นาโดพัดถล่มพื้นที่ภาคใต้ และมีการเฝ้าระวังพายุทอร์นาโดในจอร์เจียและแอละแบมา จนถึงทางตอนกลางของรัฐมิสซิสซิปปี้ ซึ่งคาดว่าจะมีลมกระโชกแรงถึง 90 ไมล์ต่อชั่วโมงและลูกเห็บขนาดใหญ่ สภาพอากาศที่รุนแรงนี้อาจขยายไปถึงเมืองดัลลัส ในรัฐเท็กซัส และสะวันนา รัฐจอร์เจีย



          CNN รายงานว่า หัวหน้าเจ้าหน้าที่ดับเพลิงเมืองเพอร์ริตัน ของ Texas Panhandle ระบุว่า มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 3 รายหลังจากพายุทอร์นาโด พัดถล่ม



          ด้านผู้ให้บริการไฟฟ้าของรัฐเท็กซัส (Electric Reliability Council of Texas : ERCOT) คาดว่า การใช้พลังงานของรัฐจะเพิ่มขึ้นทำลายสถิติในสัปดาห์นี้ เนื่องจาก บ้านเรือนและธุรกิจร้านค้าต่างเปิดเครื่องปรับอากาศเพื่อบรรเทาคลื่นความร้อนระลอกแรกของฤดูร้อนปี 2566





          สภาพอากาศสุดขั้วที่เกิดขึ้นในสัปดาห์นี้ ยังเป็นการย้ำเตือนถึงเหตุการณ์ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2564 ซึ่งชาวเท็กซัสหลายล้านคนไม่มีไฟฟ้า น้ำ และความร้อนเป็นเวลาหลายวันในช่วงที่เกิดพายุร้ายแรง และแม้ว่าผู้ให้บริการจะยืนยันว่าจะไม่เกิดเหตุขัดข้องขึ้นอีก โดยรวมแล้วคาดว่าสหรัฐฯ จะมีความต้องการพลังงานลดลงในปี 2566 แต่คาดว่ารัฐเท็กซัสจะมีความต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของเศรษฐกิจและประชากร



...



#คลื่นความร้อน



#เท็กซัส



#สหรัฐอเมริกา



 

ข่าวทั้งหมด

X