เปิดผลวิจัย เยาวชนไทยเล่นพนันออนไลน์มากขึ้นผ่านสื่อโซเชียล และคนดังที่โฆษณาชักชวน

13 มิถุนายน 2566, 13:13น.


          ปัญหาเรื่องของการพนัน ปัจจุบันไม่ได้จำกัดอยู่แค่กลุ่มผู้ใหญ่เท่านั้น แต่ยังแทรกซึมไปถึงกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชน ผ่านช่องทางสื่อออนไลน์ โซเชียลมีเดียต่างๆ ทำให้เยาวชนเข้าถึงและคุ้นเคยกับการพนันออนไลน์มากขึ้น มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  จึงจัดเวทีเสวนาวิชาการเรื่อง เปิดพฤติกรรมเยาวชนไทย รู้เท่าทันภัยพนัน





          รศ.แล ดิลกวิทยรัตน์ ประธานคณะกรรมการกำกับทิศทางกลุ่มแผนงานลดปัญหาจากการพนัน  ประธานในงานเสวนา ชี้ว่าสังคมต้องตระหนักและรู้เท่าทันการพนันที่แฝงมากับสื่อสมัยใหม่ อย่างสื่อโซเชียลมีเดีย เพื่อดูแลเยาวชนที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เสี่ยง



          ขณะที่ วิทยากรหลายคน นำเสนอผลงานวิจัยเกี่ยวกับการพนันออนไลน์ที่ส่งผลกระทบกับเยาวชน ผศ.ดร.ไพฑูรย์  สอนทน อาจารย์หลักสูตรสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ เปิดเผยว่า  จากการศึกษาตัวอย่างเด็กนักเรียนมัธยมในจังหวัดเพชรบูรณ์ จำนวน  3,744 คน พบว่า มีเยาวชนเล่นการพนันออนไลน์ ราวร้อยละ 10 และการพนันที่นิยม คือ เล่นไพ่ออนไลน์ นอกจากนี้ ผลการวิจัย ยังพบว่า มีผลกระทบที่ตามมาจากการติดพนัน คือ การติดสุรา ภาวะซึมเศร้า การสูบบุหรี่ และการใช้กัญชา เป็นต้น



          ด้านนายอุบล สวัสดิ์ผล นักวิชาการอิสระ เปิดเผยว่า จากการทำกิจกรรมตั้งคำถามเกี่ยวกับการพนันในมุมมองของนักเรียนมัธยมในพื้นที่ภาคอีสาน พบว่า นักเรียนระดับ ม.1 จะรู้จักการพนันที่พบได้ในชุมชน เช่น เล่นไพ่ ไฮโล  แต่เมื่อเด็กโตขึ้นสู่ระดับมัธยมปลาย เด็กจะนึกถึงการพนันออนไลน์ เช่น สล็อต บาคาร่า เป็นต้น ที่น่าสนใจ คือ เด็กเห็นตัวอย่างจากพ่อแม่ผู้ปกครอง เช่น พ่อแม่ขายหวยซื้อหวย เล่นไพ่ เล่นไฮโล หรือเห็นคนในครอบครัวที่เล่นพนันออนไลน์ สะท้อนว่า เด็กคุ้นเคยกับการพนัน เพราะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่คนในครอบครัว ในชุมชน เล่นการพนันให้เด็กเห็น



          ส่วนผลการวิจัยในเยาวชนระดับมหาวิทยาลัย รศ.ดร.ณัฐนันท์ ศิริเจริญ อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ  เปิดเผยว่า  กลุ่มนักศึกษา เป็นกลุ่มที่คิดว่าตัวเองโตแล้ว และมีอิสระในการใช้เงินมากขึ้น  นักศึกษาส่วนหนึ่งมองว่า การพนันคือเกมชนิดหนึ่งที่ต้องหาวิธีเอาชนะ อีกส่วนมองว่า การพนันคือการลงทุน



          ขณะที่ รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน เปิดเผย ตัวเลขที่น่าสนใจจากการเก็บข้อมูลของกลุ่มตัวอย่างอายุ 15-25 ปี พบว่าในช่วง 2-3 ปีหลัง มีนักพนันหน้าใหม่เข้าสู่การพนันออนไลน์มากขึ้น ราว 3 ล้านคน โดยร้อยละ 88 เห็นโฆษณาชวนให้เล่นพนันผ่านโซเชียลมีเดีย  เกือบครึ่งหนึ่งเห็นแล้วอยากลองเล่น  ร้อยละ 14 ตัดสินใจลองเล่น  และมีอีกส่วนที่แชร์และบอกต่อ  เนื่องจากการพนันออนไลน์เล่นง่าย เข้าถึงง่าย เล่นได้ทุกเวลา  เมื่อถามว่ารู้จักหรือเห็นคนเล่นการพนันจากไหน คำตอบแรกคือพ่อแม่ ส่วนคำถามว่ารู้จักการพนันออนไลน์ได้อย่างไร คำตอบแรกคือเพื่อน ที่สำคัญ คือ การที่คนมีชื่อเสียงมาชักชวน ทำให้อยากเล่นพนันมากขึ้น และเยาวชนบางส่วนรู้ว่าหากลองเล่นแล้วอาจจะติดพนัน แต่ก็ยังคิดจะลองเล่น



          กลุ่มนักวิชาการและผู้ร่วมเสวนาในวันนี้ เห็นว่า การใช้กฎหมายควบคุมการพนันออนไลน์อย่างเดียว อาจไม่ได้ผลเพียงพอ แต่ควรสร้างความรับรู้ความเข้าใจและเท่าทันอันตรายเกี่ยวกับการพนันออนไลน์ให้เด็กและเยาวชนด้วย เช่น การนำผู้มีประสบการณ์จริง หรือคนดังที่เคยผ่านวิกฤตเรื่องการพนัน มาเล่าประสบการณ์ บอกถึงข้อดีข้อเสีย และข้อควรระวังจากการเล่นพนัน  ดีกว่าการนำหลักธรรมทางศาสนามาสั่งสอน ที่สำคัญ พ่อแม่ผู้ปกครองก็ควรรู้เท่าทันพนันออนไลน์ เพื่อเป็นตัวอย่างและชี้แนะลูกหลานของตัวเอง



#พนันออนไลน์



#มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ



#สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ



 



 

ข่าวทั้งหมด

X