ไทยพบโควิด-19 ลูกผสมร้อยละ 91.35 กระจายทุกเขตสุขภาพ ย้ำวัคซีนช่วยลดความรุนแรง

09 มิถุนายน 2566, 18:17น.


          สถานการณ์การเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 และสายพันธุ์ที่เฝ้าติดตามในประเทศไทย โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับเครือข่ายห้องปฏิบัติการ ติดตามการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์เชื้อไวรัส SARS-CoV-2 อย่างต่อเนื่อง  นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์  กล่าวว่า  สถานการณ์โดยรวมของประเทศไทยพบสายพันธุ์ลูกผสมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในรอบสัปดาห์ที่แล้ว ระหว่างวันที่ 29 พฤษภาคม - 4 มิถุนายน 2566 ผลการถอดรหัสพันธุกรรมเชื้อก่อโรคโควิด -19 จำนวน 185 คน พบเป็นสายพันธุ์ลูกผสม 169 คน คิดเป็น ร้อยละ 91.35โดยพบผู้ติดเชื้อกระจายทุกเขตสุขภาพ สัดส่วนสายพันธุ์ที่ตรวจในสัปดาห์นี้สามอันดับแรก ได้แก่ สายพันธุ์ลูกผสม XBB.1.16* XBB.1.9.1* และ XBB.1.5* คิดเป็นร้อยละ 35.68, ร้อยละ 20.00  และร้อยละ 11.35 ตามลำดับ





           ส่วนสายพันธุ์ XBB.2.3* องค์การอนามัยโลกประกาศเป็นสายพันธุ์ที่ต้องเฝ้าติดตาม (VUMs) เพิ่มเติม เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2566 เป็นสายพันธุ์ลูกผสมของโอไมครอน BA.2.10.1 และ BA.2.75 ที่กลายพันธุ์เพิ่มเติมบนโปรตีนหนาม S:T478K เหมือนกับสายพันธุ์เดลตา มีความสามารถในการหลบภูมิคุ้มกันได้ดี แต่ยังไม่มีหลักฐานที่แสดงถึงความได้เปรียบในการเติบโตแพร่ระบาด พบรายงานจาก 54 ประเทศทั่วโลก จำนวน 7,664 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 6 มิถุนายน 2566) สำหรับประเทศไทยพบแล้วจำนวน 60 คน รายงานครั้งแรกในช่วงเดือนมีนาคม 2566 ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานแสดงว่าสายพันธุ์ดังกล่าวส่งผลต่อความรุนแรงของโรค  



          แม้สถานการณ์ปัจจุบันของประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ลูกผสมเป็นสายพันธุ์หลักกระจายทุกเขตสุขภาพ การตรวจวินิจฉัยโรคโควิด-19 ด้วยชุดทดสอบ ATK และการตรวจทางห้องปฏิบัติการด้วยวิธี Real-time PCR  ยังสามารถใช้  ตรวจการติดเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ครอบคลุมทุกสายพันธุ์ ซึ่งรวมถึงสายพันธุ์โอไมครอน และสายพันธุ์ลูกผสม อย่างไรก็ตาม  ขอประชาชนให้ความสำคัญในการดูแลตัวเอง เข้ารับการฉีดวัคซีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเปราะบางหรือกลุ่มเสี่ยง 608 เพื่อป้องกันตนเองรวมถึงช่วยลดความรุนแรงของโรคหากได้รับเชื้อ ทั้งนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยังคงเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ของเชื้อก่อโรคโควิด -19 อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในรายที่มีอาการรุนแรง หรือเสียชีวิต



 



 



#โควิด19



#ฉีดวัคซีน



#กรมวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์



 

ข่าวทั้งหมด

X