รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคประจำเดือนพฤษภาคม 2566 โดยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 39 เดือนนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เนื่องจากผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้นหลังจากที่การท่องเที่ยวฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจน ตลอดจนบรรยากาศการหาเสียงเลือกตั้งที่คึกคักทั่วประเทศ ส่งผลให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศมากขึ้นและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันปรับตัวลดลงทำให้ประชาชนรู้สึกผ่อนคลายเรื่องค่าครองชีพลง ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการปรับตัวดีขึ้นทุกรายการอย่างมีนัยสำคัญ
อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนในการจัดตั้งและเสถียรภาพทางการเมืองรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง ค่าครองชีพที่ยังทรงตัวสูงโดยเฉพาะค่าไฟฟ้ารวมถึงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์สถาบันการเงินของโลก เศรษฐกิจโลกชะลอตัวและสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ตลอดจนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่อาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งส่งผลลบต่อการส่งออกของไทยทำให้การส่งออกในช่วงนี้หดตัวลง และมีผลกระทบในเชิงลบต่อกำลังซื้อของประชาชนในทุกภูมิภาค
ดัชนีความเชื่อมั่นของ ผู้บริโภค เดือนพ.ค.66 อยู่ที่ระดับ 55.07 ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 และสูงสุดในรอบ 39 เดือน นับตั้งแต่มี.ค.63
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 50.2 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสใน การหางาน อยู่ที่ 52.8 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 64.2 ซึ่งดัชนีทุกรายการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ปัจจัยบวกที่สำคัญ คือ
1.บรรยากาศการหาเสียงเลือกตั้งที่คึกคัก ส่งผลให้มีเม็ดเงินสะพัดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น
2.สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เผย จีดีพีไตรมาส 1/66 ขยายตัวร้อยละ 2.7 เร่งตัวขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า คาดทั้งปีจีดีพี โต ร้อยละ 3.2 จากปัจจัยหนุนภาคท่องเที่ยว และการบริโภคภาคเอกชน
3.นักท่องเที่ยวต่างชาติ เดินทางเข้าไทยมากขึ้น ส่งผลดีให้เม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศมากขึ้น
4.ราคาพืชผลเกษตรหลายรายการปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อรายได้เกษตรกร และกำลังซื้อในภูมิภาค
5.ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศปรับตัวลดลง 6.เงินบาทปรับแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย
ขณะที่ยังมีปัจจัยลบ ได้แก่
1. ผู้บริโภคกังวลปัญหาเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า รวมทั้งภาวะค่าครองชีพที่ยังอยู่ในระดับสูง
2.ความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาล และเสถียรภาพทางการเมือง
3.สถานการณ์เศรษฐกิจโลกและภาคการเงินในสหรัฐ มีผลทางจิตวิทยาเชิงลบ
4.คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ (กนง.) ขึ้นดอกเบี้ยอีกร้อยละ0.25
5. การส่งออกไทย เดือนเม.ย. หดตัวร้อยละ 7.6
#เศรษฐกิจไทย
#หอการค้าไทย