ความคืบหน้าอุบัติเหตุรถไฟ 3 ขบวนชนกัน ที่เมืองบาลาซอร์ รัฐโอริสสา ทางภาคตะวันออกของอินเดีย เมื่อค่ำวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยเป็นรถไฟโดยสาร 2 ขบวนและรถไฟสินค้า 1 ขบวน ทำให้มีผู้เสียชีวิต 288 รายและมีผู้บาดเจ็บกว่า 1,100 คน
ล่าสุดสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น รายงานว่า สำนักนายกรัฐมนตรีแจ้งเปลี่ยนแปลงกำหนดการของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ซึ่งในตอนแรกมีกำหนดการจะไปทำพิธีเปิดรถไฟความเร็วสูงในโครงการ วันเด ภารัต เอ็กซ์เพรส(Vande Bharat Express) ที่สถานีมัดโกน (Madgaon) รัฐกัว (Goa)ในแถบชายฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของอินเดีย ซึ่งจะเปิดบริการรถไฟความเร็วสูงในรัฐนี้เป็นขบวนแรก เมื่อวานนี้ (3 มิถุนายน 2566) ซึ่งโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการลงทุนครั้งใหญ่ของรัฐบาลอินเดีย เพื่อปรับปรุงระบบเครือข่ายรถไฟของประเทศ และระบบสาธารณูปโภคอื่นๆของประเทศให้มีความทันสมัย
แต่ปรากฏว่า นายโมดี เปลี่ยนตารางการทำงานใหม่ โดยลงพื้นที่ไปติดตามตรวจสอบสถานที่เกิดอุบัติเหตุรถไฟชนกันในรัฐโอริสสา เพื่อร่วมแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิต รวมทั้งพบกับทีมกู้ภัย และไปเยี่ยมให้กำลังใจแก่ผู้บาดเจ็บที่กำลังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล พร้อมกำชับตำรวจให้สอบสวนสาเหตุอุบัติเหตุอย่างละเอียด และดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รถไฟที่ทำงานผิดพลาดร้ายแรง ขณะที่ประชาชนหลายร้อยคน รวมกันที่ด้านนอกของโรงพยาบาล เพื่อบริจาคเลือดช่วยชีวิตผู้บาดเจ็บ
นายเคเอส อนันด์ โฆษกบริษัทรถไฟเซาท์ อีสเทิร์น เรลเวย์ของอินเดีย กล่าวถึงผลสอบสวนในเบื้องต้นว่า จุดเริ่มต้นของอุบัติเหตุเกิดขึ้นเพราะความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ประจำสถานีรถไฟที่รับผิดชอบการให้สัญญาณสับรางรถไฟ คือแทนที่รถไฟโดยสารขบวนแรก คือ ขบวนโคโรแมนเดล เอ็กซ์เพรส (Coromandel Express) ที่วิ่งจากเมืองโกลกาตา (หรือเดิมชื่อ กัลกัตตา เมืองเอกของรัฐเบงกอล) มายังเมืองเจนไน (หรือเดิมคือ เมืองมัทราส เมืองเอกของรัฐทมิฬนาฑู) จะแล่นตรงไปบนรางรถไฟหลัก แต่เจ้าหน้าที่รถไฟประจำสถานี กลับแจ้งสัญญาณให้คนขับรถไฟสับราง ทำให้ชนท้ายรถไฟสินค้าที่จอดอยู่ก่อนแล้ว ตู้โดยสารหลายตู้จึงกระเด็นไปกองอยู่บนรางรถไฟฝั่งตรงข้าม เป็นจังหวะเดียวกับที่รถไฟโดยสารขบวนที่ 2 คือ ขบวน ฮาวราห์ ซูเปอร์ฟาสต์ เอ็กซ์เพรส (Howrah Superfast Express) ที่แล่นจากเมืองเยสวันปูร์ (Yesvantpur) ระหว่างเมืองบังคาลอร์/ปูเน ไปเมืองฮาวราห์ (Howrah)ในรัฐเบงกอลตะวันตก แล่นสวนมาพอดี จึงชนกับตู้รถไฟที่ตกรางและกระเด็นมาขวางรางรถไฟโดยสารขบวนที่ 2
อุบัติเหตุครั้งนี้ สร้างความเศร้าสลดใจให้กับชาวอินเดียทั้งประเทศ หลายฝ่ายขอให้ทางการอินเดียเพิ่มความปลอดภัยให้กับรถไฟของอินเดีย ซึ่งบรรทุกผู้โดยสารกว่า 13 ล้านคนต่อวัน
ส่วนปฏิกิริยาจากผู้นำโลก นายกรัฐมนตรีเชห์บาซ ชารีฟ ของปากีสถาน เพื่อนบ้าน ตลอดถึงผู้นำชาติอื่น เช่น นายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะของญี่ปุ่น ประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐฯ นายกรัฐมนตรีริชี ซูแน็กของอังกฤษ และนางเออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ก็ร่วมแสดงความใจกับรัฐบาลอินเดียและครอบครัวผู้เสียชีวิต
#รถไฟชนกัน
#นายกอินเดีย