นายฟูมิโอะ คิชิดะนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เปิดเผยแผนงบประมาณ 25,000 ล้านดอลลาร์ ใช้เป็นงบสนับสนุนคนรุ่นใหม่ และครอบครัว เพื่อกระตุ้นอัตราการเกิดของประเทศที่ตกต่ำ
เงินอุดหนุนก้อนใหญ่สำหรับผู้มีบุตร เงินช่วยเหลือด้านการศึกษา และการดูแลก่อนคลอดบุตร รวมถึงการสนับสนุนการทำงานที่ยืดหยุ่น และการลางานเพื่อดูแลบุตรของบิดา มีแนวโน้มที่จะได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลญี่ปุ่น
โดยนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น กล่าวกับรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ผู้เชี่ยวชาญ และนักธุรกิจชั้นนำระหว่างการหารือประเด็นปัญหานี้ ว่า เขาเตรียมเสนอนโยบายรับมือกับอัตราการเกิดที่ตกต่ำ โดยจะใช้งบประมาณจำนวนมากอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เดินหน้าเพิ่มรายได้ให้คนหนุ่มสาว และกลุ่มคนที่ต้องเลี้ยงลูก
นายคิชิดะบอกว่า นโยบายกระตุ้นอัตราการเกิดต้องใช้งบประมาณราว 3.5 ล้านล้านเยน หรือ 25,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อใช้ในอีก 3 ปีข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวดังกล่าวทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการจัดหางบประมาณ แทนที่จะลดการใช้จ่ายอย่างอื่น และพัฒนาเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีประชากรสูงอายุมากที่สุดอันดับ 2 ของโลก รองจากประเทศเม็กซิโก และมีกฎคนเข้าเมืองค่อนข้างเข้มงวด แสดงให้เห็นว่า ประเทศประสบกับการขาดแคลนแรงงานมากขึ้น
ในปี 2565 ประเทศมีประชากร 125 ล้านคน มีจำนวนเด็กเกิดใหม่น้อยกว่า 800,000 คน ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ลดลงติดต่อกันเป็นปีที่ 7 นับตั้งแต่มีการบันทึกข้อมูลในปี 2542 สู่ระดับ 770,747 คน ซึ่งลดลง 40,875 คน จากปีก่อนหน้า
อัตราเจริญพันธุ์โดยรวมลดลงสู่ระดับ 1.26 คน เท่ากับระดับต่ำที่สุดเป็นระวัติการณ์ในปี 2548 โดยเชื่อกันว่าการลดลงอย่างมากนี้เป็นผลจากการที่ประชาชนชะลอการมีบุตร เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2558 อัตราเจริญพันธุ์ในญี่ปุ่นฟื้นตัวสู่ระดับ 1.45 คน แต่มีแนวโน้มลดลงตั้งแต่ปี 2559
หากดูเป็นรายจังหวัดนั้นพบว่า จังหวัดโอกินาวา มีอัตราเจริญพันธุ์สูงสุดที่ 1.70 คน ตามด้วยจังหวัดมิยาซากิที่ 1.63 คน และจังหวัดทตโตริ ที่ 1.60 คน
ส่วนกรุงโตเกียวมีอัตราเจริญพันธุ์ต่ำสุดที่ 1.04 คน ขณะที่จังหวัดมิยางิ อยู่ที่ 1.09 คน และจังหวัดฮอกไกโด ที่ 1.12 คน
ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้สูงอายุเพิ่มสูงขึ้นญี่ปุ่นเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัวตั้งแต่ปี 1997
สถาบันวิจัยความมั่นคงทางสังคมและประชากรแห่งชาติของญี่ปุ่น เผยรายงานว่า ในปี 2040 1 ใน 4 ของผู้สูงอายุวัย 65 ปีในญี่ปุ่นจะต้องอยู่ตัวคนเดียว โดยไม่มีลูกหลานหรือครอบครัวคอยดูแล
หากชาวญี่ปุ่นยังเลือกใช้ชีวิตโดดเดียวแบบนี้ต่อไป คาดว่า 40% ของประชากรในอีก 13 ปีข้างหน้าจะต้องอาศัยอยู่เพียงลำพัง จากการเลือกใช้ชีวิตแบบนี้ทำให้ญี่ปุ่นพบ "การตายอย่างโดดเดี่ยว” หรือ “โคโดคูชิ” มากขึ้น
ปัจจุบันการตายแบบนี้ในญี่ปุ่มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปีการตายแบบโคโดคูชิมีถึง 40,000 ราย คือทุกชั่วโมงจะมีคนตายอย่างโดดเดี่ยวถึง 3 คน
#ญี่ปุ่น
#อัตราการเกิดต่ำ
#เงินอุดหนุนให้มีบุตร