นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยถึงสถานการณ์เงินเฟ้อ และราคาสินค้า ค่าครองชีพว่า ตั้งแต่ต้นปี 2566 จนถึงปัจจุบัน เงินเฟ้อมีแนวโน้มดีขึ้นเป็นลำดับ โดยมีแนวโน้มชะลอตัว และตัวเลขเดือน พ.ค.66 เงินเฟ้อจะบวกแค่ ร้อยละ 0.5 ส่วนตัวเลขทางการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) จะแถลงอีกครั้งในช่วงสัปดาห์หน้า โดยตัวเลขเงินเฟ้อดังกล่าวถือเป็นทิศทางที่ดี ต่ำที่สุดในอาเซียน และน่าจะเป็นประเทศที่มีเงินเฟ้อต่ำไม่เกินลำดับที่ 14-15 จาก 130 กว่าประเทศทั่วโลก
เงินเฟ้อที่คาดว่า จะลดลงดังกล่าว สะท้อนผ่านราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ราคาพลังงาน โดยเฉพาะหมวดอาหาร ที่มีผลกระทบโดยตรงกับผู้บริโภคมาก เช่น หมูเนื้อแดงแนวโน้มราคาลดลง เฉลี่ย 145 บาทต่อกก. ซึ่งต่ำกว่าราคาโครงสร้างถึง 40 บาทต่อ กก. เนื้อไก่ ราคาต่ำกว่าราคาโครงสร้างร้อยละ 6-17 ไข่ไก่ เบอร์ 3 แม้จะปรับขึ้นช่วงนี้ เพราะฤดูร้อน ไก่ออกไข่น้อยและและขนาดเล็ก แต่ราคาเฉลี่ยยังต่ำกว่าราคาโครงสร้างถึงร้อยละ16 ส่วนราคาผัก ในภาพรวมสัปดาห์นี้ ปรับลดลงจากสัปดาห์ก่อน เพราะฝนเริ่มมา ผลผลิตออกมากขึ้น ส่งผลให้ตัวเลขเงินเฟ้ออยู่ในสถานการณ์ที่ดีต่ำสุดในอาเซียน และต่ำกว่าหลายประเทศในโลก”
ราคาพืชผลทางการเกษตร อยู่ในเกณฑ์ดีมาก เช่น ข้าวทั้ง 5 ชนิด ราคาสูงกว่ารายได้ที่ประกันเกือบทุกตัว ราคามันสำปะหลัง เฉลี่ย 3.35-3.80 บาทต่อกก. สูงกว่าที่ประกันรายได้ 2.50 บาทต่อกก. ซึ่งเป็นยุคทองยุคหนึ่งของมันสำปะหลังไทย ปาล์มน้ำมัน เฉลี่ย 5-5.50 บาทต่อกก. สูงกว่ารายได้ที่ประกันที่ 4 บาทต่อกก. ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ประมาณ 12 บาทต่อกก.
สำหรับผลไม้ปีนี้เป็นปีทอง โดยเฉพาะภาคตะวันออกที่ปิดฤดูกาลไปแล้ว ราคาทุเรียนเกรดส่งออก ปีที่แล้วเฉลี่ย 150 บาทต่อกก. ปีนี้สูงถึง 187.50 บาท ทุเรียนตกเกรด ปีที่แล้ว 92 บาท ปีนี้สูงถึง 120-165 บาท มังคุดเกรดส่งออก ปีที่แล้ว 140 บาท ปีนี้เฉลี่ย 170-185 บาท ขณะที่ราคาปุ๋ย เมื่อเทียบกับเดือนพ.ค.65 ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาสูงที่สุด ขณะนี้ราคาลดลง เช่น ยูเรียลงร้อยละ 50 ปุ๋ยชนิดอื่นลดลงประมาณร้อยละ 30
#เงินเฟ้อไทย
#ราคาสินค้า
#ค่าครองชีพ