ปลัดสธ.เผย โควิด-19 รายสัปดาห์ ผู้ป่วยทั่วประเทศเฉลี่ย 424 คนต่อวัน เสียชีวิตลดลง

29 พฤษภาคม 2566, 14:01น.


          หลังเป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์โรคโควิด 19 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า สถานการณ์การระบาดเป็นไปตามคาดการณ์ คือ หลังเทศกาลสงกรานต์ โรงเรียนเปิดเทอมและเข้าสู่ฤดูฝน จะพบผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วย และผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น โดยสัปดาห์ที่แล้ว มีผู้ป่วยเข้ารักษาในโรงพยาบาล 2,970 คน เฉลี่ยวันละ 424 คน ผู้ป่วยปอดอักเสบ 425 คน ใส่ท่อช่วยหายใจ 253 คน และเสียชีวิต 42 ราย เฉลี่ยวันละ 6 ราย



          แนวโน้มผู้เสียชีวิตลดลงจากสัปดาห์ก่อนที่มี 60 กว่าราย แต่ปัจจัยเสี่ยงของผู้เสียชีวิตยังเหมือนเดิม คือ เป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง 7 โรค และหญิงตั้งครรภ์ ส่วนใหญ่ได้รับเชื้อจากคนในครอบครัวที่มีกิจกรรมนอกบ้าน ที่สำคัญเกือบทั้งหมดไม่ได้ฉีดวัคซีน ฉีดไม่ครบตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข  ดังนั้น การฉีดวัคซีน ถือเป็นมาตรการเร่งด่วนสำหรับผู้สูงอายุ เพราะช่วยลดการป่วยและเสียชีวิตได้



       ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ขณะนี้ในเขต กทม.และปริมณฑล พบมีการระบาดมากกว่าพื้นที่อื่น จึงให้กรมควบคุมโรคในฐานะเลขานุการคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ทำหนังสือประสานประธานคณะกรรมการโรคติดต่อ กทม./จังหวัด ให้ประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำรวจผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยงที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน หรือยังไม่ได้ฉีดวัคซีนประจำปี เพื่อเร่งรัดการฉีดวัคซีนให้มากขึ้น ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขยินดีสนับสนุนเวชภัณฑ์และข้อมูลต่างๆ ทั้งนี้ จากการเฝ้าระวังสายพันธุ์ในประเทศไทย โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ XBB.1.16 ซึ่งความสามารถในการแพร่ระบาดและความรุนแรงไม่ได้มากกว่าสายพันธุ์เดิม เตียงรองรับผู้ป่วยภาพรวมทั้งประเทศและ กทม. ยังคงเพียงพอ อัตราครองเตียงอยู่ที่ ร้อยละ 22 ขณะที่ยาที่ใช้ในการรักษามีเพียงพอเช่นกัน





          ด้านสถานการณ์การครองเตียงภาพรวม นพ.ณัฐพงศ์ วงค์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า อยู่ที่ร้อยละ 21.92 การบริหารเตียงยังคงทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำนวนเตียงระดับ 3 และ 2.2 ยังมีเพียงพอ ส่วนอาการของผู้ป่วยที่พบในขณะนี้ มีอาการน้อย เกณฑ์การให้ยา จะเน้นในคนป่วยที่มีอาการ และมีโรคร่วมเป็นหลัก คนไม่มีอาการรุนแรง ไม่มีโรคประจำตัว รับยาตามอาการ คนที่มี อาการเล็กน้อย แต่มีโรคร่วม อาจให้ยาฟาวิพิราเวียร์ โมลนูพิราเวียร์ แต่คนที่มีโรคร่วม อาจให้ยาเรมเดซิเวียร์ หรือแพกโลวิดซ์



          แต่ปัญหาเตียงที่พบใน รพ.เกิดจาก คนที่มีโรคร่วม เมื่อไปตรวจรักษาโรคอื่น แต่ก็พบติดเชื้อโควิด บางคนประสงค์นอนรักษาตัวใน รพ. ในจำนวนนี้มีอาการ ซึ่งบางคนไม่มีอาการรุนแรง สามารถรับยาแบบผู้ป่วยนอกได้



#โควิด19

ข่าวทั้งหมด

X