เตือนภัย SMS อ้างเป็นบริษัทส่งพัสดุ ส่งหม้อชาบูมาให้ที่บ้าน หลอกทำภารกิจสูญเงิน

28 พฤษภาคม 2566, 09:15น.




      พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษกกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) หรือตำรวจไซเบอร์  เตือนภัยประชาชน ระมัดระวังมิจฉาชีพ ส่งข้อความ SMS แอบอ้างเป็นบริษัท Kerry Express  แจ้งว่า “คุณมีประวัติใช้งาน 5 ครั้ง บริษัทจึงขอมอบของขวัญหูเป็นฟังบลูทูธเพื่อเป็นการขอบคุณ” พร้อมแนบลิงก์ให้เพิ่มเพื่อนทางไลน์ ซึ่งบัญชีไลน์ดังกล่าวได้อ้างตัวเป็นแอดมินจากบริษัทแห่งหนึ่ง เมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อแอดเพื่อนเข้าไป  ก็จะแจ้งว่า หูฟังบลูทูธหมด แต่จะส่งหม้อชาบูขนาดเล็กมาให้แทน โดยไม่มีการเรียกเก็บเงินปลายทาง และไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ เมื่อผู้เสียหายส่งชื่อที่อยู่ให้  จากนั้นอีกไม่กี่วันผู้เสียหายก็ได้รับหม้อชาบูดังกล่าวจริง



 



          ต่อมาแอดมินดังกล่าวจะให้แอดไลน์กับฝ่ายบริการลูกค้า เพื่อรับเงินโบนัส 38 บาท และรับของขวัญเป็นโทรทัศน์ดิจิทัล ขนาด 32 นิ้ว เมื่อผู้เสียหายแอดไลน์ไป ก็จะขอชื่อและที่อยู่ รวมถึงขอหมายเลขบัญชีธนาคาร เพื่อโอนเงินโบนัสมาให้ ปรากฏว่าผู้เสียหายได้รับเงินโบนัสเล็กน้อยจริง  จากนั้นผู้เสียหายถูกหลอกลวงให้เข้ากลุ่ม Open Chat Line เพื่อทำภารกิจ หรือกิจกรรมต่อไป โดยการให้ไปกดติดตามบัญชีในแอปพลิเคชัน Tiktok  โดยหลอกว่า ถ้ากดติดตาม 1 ครั้ง จะได้เงิน 20 – 50 บาท  และให้ลงทะเบียนในเว็บไซต์ปลอมที่มิจฉาชีพสร้างขึ้นมา ซึ่งผู้เสียหายก็ได้รับเงินจริงมาประมาณ 300 บาท ทำให้ผู้เสียหายยิ่งหลงเชื่อ 



    ต่อมาแอดมินได้ให้แอดไลน์ไปยังบุคคลอ้างตัวว่าเป็นอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในการทำกิจกรรม  ส่งใบรายการทำภารกิจในระดับต่างๆ จำนวน 6 ระดับ เช่น โอนเงิน 888 บาท จะได้เงินรวมกำไร 1,110 บาท  , โอนเงิน 12,188 จะได้เงินรวมกำไร 16,453 บาท เมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินไป   กลับไม่สามารถถอนเงินออกมาได้  โดยอ้างว่าทำกิจกรรมไม่ครบตามจำนวน หรือทำผิดกติกาต่างๆ เป็นต้น  ผู้เสียหายเชื่อว่าถูกหลอกลวงและได้รับความเสียหาย จึงแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับมิจฉาชีพ



 





   





            ทั้งนี้ การหลอกลวงในลักษณะดังกล่าวมีประชาชนได้รับเดือดร้อนสูงเป็นลำดับที่ 2 ของการหลอกลวงทั้งหมด รองจากการหลอกลวงขายสินค้าหรือบริการ โดยนับตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.65 – 14 พ.ค.66 มีผู้เสียหายแจ้งความออนไลน์ จำนวน 35,377 เรื่อง หรือคิดเป็น 13.69% มีความเสียหายรวมกว่า 4,281 ล้านบาท สูงเป็นลำดับที่ 2 รองจากการหลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้แล้วการหลอกลวงในลักษณะดังกล่าวแล้ว ยังพบว่ามีหลอกลวงในลักษณะอื่นๆ ที่คล้ายกันอีก เช่น การหลอกลวงให้กดไลก์ (Like) กดแชร์ (Share) ดูคลิปวิดีโอจากยูทูบ (YouTube) กดรับออร์เดอร์สินค้า รีวิวสินค้า พับถุงกระดาษ ร้อยลูกปัด หรือทำกิจกรรมอื่นๆ ตามแต่ที่มิจฉาชีพออกอุบาย โดยการประกาศเชิญชวนโฆษณาผ่านสื่อสังคมออนไลน์ หรือการส่งความสั้น (SMS) ไปยังเหยื่อโดยตรง ให้กดลิงก์เพิ่มเพื่อน แล้วเข้ากลุ่มทำงานที่มิจฉาชีพสร้างขึ้นมา โดยในช่วงแรกจะได้เงินคืนมาเล็กน้อย แต่หลังจากนั้นมิจฉาชีพก็จะให้ทำภารกิจพิเศษ หลอกให้เหยื่อโอนเงินเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตามระดับภารกิจ ทั้งนี้เหยื่อมักเสียดายเงินที่เคยโอนไปก่อนหน้านี้ อยากได้เงินทั้งหมดคืน ก็หลงเชื่อโอนเงินไปเพิ่มอีกหลายครั้ง มิจฉาชีพก็จะมีข้ออ้างต่างๆ รวมไปถึงการสร้างความน่าเชื่อถือโดยให้หน้าม้าในกลุ่มไลน์แสดงหลักฐานปลอมว่าได้รับเงินจริง กระทั่งเมื่อเหยื่อรู้ตัวว่าถูกหลอกลวงก็จะปิดการติดต่อหลบหนีไป เพราะฉะนั้นการทำกิจกรรม หรือธุรกรรมใดๆ บนโลกออนไลน์ต้องรู้เท่าทันกลโกงของมิจฉาชีพและมีสติอยู่เสมอ



 



          พร้อมกันนี้ ตำรวจฝากเตือนถึงแนวทางการป้องกันการถูกหลอกลวงหารายได้จากการทำกิจกรรมผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ดังนี้



1.เมื่อพบคำเชิญชวนให้ทำงานออนไลน์ ผ่านทางข้อความสั้น (SMS) หรือประกาศ โฆษณาผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เช่น Facebook, Instagram, Tiktok อย่าเข้าไปติดต่อสมัครทำงานเป็นอันขาด มักจะมีการแอบอ้างสัญลักษณ์ของหน่วยงาน หรือบริษัทที่เกี่ยวข้องมาเพิ่มความน่าเชื่อถือ



2.หลีกเลี่ยงข้อเสนอที่ฟังดูดี หรือมีผลตอบแทนสูง ทำง่าย มีขั้นตอนไม่ซับซ้อน



3.หากต้องการจะทำงานจริงๆ ให้ปรึกษาสายด่วนของตำรวจไซเบอร์ ที่หมายเลข 1441 หรือ 08-1866-3000 เพื่อปรึกษา สอบถามว่างานดังกล่าวเข้าข่ายหลอกลวงเป็นมิจฉาชีพหรือไม่



4.หากมีการให้โอนเงินมัดจำ หรือเงินลงทุน หรือสำรองเงินใดๆ ก่อน สันนิษฐานได้ทันทีว่ากำลังโดนมิจฉาชีพหลอกลวง อย่าโอนเงินไปเด็ดขาด



5.ไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลทางการเงินใดๆ มิจฉาชีพมักให้เหยื่อส่งหลักฐาน ข้อมูลส่วนบุคคล อ้างว่าใช้ในการสมัครงาน เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ



​6.ไม่หลงเชื่อเพียงเพราะว่ามีการส่งสิ่งของ หรือให้เงินให้ในจำนวนเล็กน้อยก่อนจริง



​7.ระมัดระวังการโอนผ่านบัญชีของบุคคลธรรมดา โดยควรตรวจสอบหมายเลขบัญชีธนาคาร หรือชื่อนามสกุลเจ้าของบัญชี ก่อนโอนเงินทุกครั้งว่ามีประวัติไม่ดีหรือไม่ ผ่าน https://www.blacklistseller.com หรือ https://www.chaladohn.com เป็นต้น



#หลอกโอนเงิน



#โจรไซเบอร์



 

ข่าวทั้งหมด

X