สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ภาพปลอมที่แสดงให้เห็นการเกิดเหตุระเบิดขึ้นที่เพนตากอน หรือกระทรวงกลาโหมของสหรัฐอเมริกา ตั้งอยู่ในเมืองอาร์ลิงตัน รัฐเวอร์จิเนีย กลายเป็นไวรัลในโลกออนไลน์เมื่อวันจันทร์ (22 พ.ค.) และยังสร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดหุ้นสหรัฐที่ทำการซื้อขายในวันเดียวกันในช่วงสั้นๆ ด้วย
ผู้สังเกตการณ์หลายคนสงสัยว่าภาพปลอม น่าจะเป็นภาพที่มาจากการใช้ระบบ Generative AI ซึ่งเป็นเทคโนโลยีแขนงหนึ่งที่ทำให้คอมพิวเตอร์สามารถสร้างคอนเทนต์ขึ้นเองได้อย่างรวดเร็ว เช่น รูปภาพ และงานศิลปะ ซึ่งภาพปลอมดังกล่าวได้ถูกแชร์อย่างแพร่หลายโดยบัญชีผู้ใช้งานหลายบัญชี ส่งผลให้เพนตากอนต้องออกมาแถลงยืนยันว่าไม่มีเหตุระเบิดเช่นนั้นเกิดขึ้นที่เพนตากอน เช่นเดียวกับสำนักงานดับเพลิงอาร์ลิงตันโพสต์ลงโซเชียลมีเดียยืนยันเช่นกันว่า ไม่มีเหตุระเบิดหรือเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นที่หรือใกล้กับเพนตากอน
ขณะที่ทวีตล่าสุดที่เอเอฟพีพบเกี่ยวกับการแชร์ภาพเพนตากอน มาจากบัญชีของผู้สนับสนุนกลุ่ม QAnon ที่เคยเผยแพร่ข้อมูลอันบิดเบือน แม้จะไม่ทราบแหล่งที่มาต้นทางของภาพปลอมดังกล่าว ภาพปลอมที่เกิดกับเพนตากอน เป็นเหตุการณ์คล้ายคลึงกับที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ที่มีการเผยแพร่ภาพปลอมต่างๆ ในโลกออนไลน์ รวมถึงภาพปลอมที่แสดงให้เห็นอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐ ขณะถูกเจ้าหน้าที่จับกุม หรือภาพปลอมของสมเด็จพระสันตปาปาฟรานซิส ประมุขแห่งคริสตจักรโรมันคาทอลิก ทรงสวมใส่แจ๊กเก็ตแฟชั่น
การเผยแพร่ภาพปลอมล่าสุดนี้ยังสะท้อนให้เห็นว่าเทคโนโลยี Generative AI ซึ่งสร้างภาพให้เหมือนจริงได้ อาจสร้างปัญหาทางสังคมได้หากนำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม โดยภาพนี้สร้างความตื่นตกใจให้กับตลาดหุ้นสหรัฐ ที่ปรับตัวลดลงในช่วงเปิดการซื้อขายนานราว 10 นาทีเมื่อวันจันทร์ โดยดัชนีหุ้นเอสแอนด์พี 500 ลดลงไปร้อยละ0.29 เมื่อเทียบกับระดับการปิดตลาดซื้อขายเมื่อวันศุกร์ที่แล้วก่อนจะดีดกลับในเวลาต่อมา
#AI
#ระเบิดใกล้เพนตากอน