เศรษฐกิจฟื้นตัว! สภาพัฒน์เปิดตัวเลขจ้างงานขยายตัวร้อยละ 2.4 แรงงานได้ค่าจ้างเพิ่มขึ้น

22 พฤษภาคม 2566, 16:33น.


          ภาวะสังคมไทยไตรมาส 1/66 ายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์  พบว่า  อัตราการว่างงานดีขึ้นต่อเนื่องอยู่ที่ ร้อยละ1.05 ปรับตัวเข้าสู่ระดับปกติ แรงงานได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้น จากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว



          สำหรับการจ้างงาน ผู้มีงานทำมีจำนวนทั้งสิ้น 39.6 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ2.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการจ้างงานทั้งในและนอกภาคเกษตรกรรม โดยการจ้างงานภาคเกษตรกรรมขยายตัว ร้อยละ 1.6 จากการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูก ขณะที่การจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมขยายตัวร้อยละ2.7 จากการจ้างงานสาขาการค้าส่งและค้าปลีก และสาขาโรงแรมและภัตตาคาร ซึ่งปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของภาวะการขยายตัวของเศรษฐกิจ และการเติบโตอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ส่วนการจ้างงานสาขาการผลิตขยายตัวได้เล็กน้อย



         ขณะที่สาขาที่มีการจ้างงานลดลง ได้แก่ สาขาการขนส่ง/เก็บสินค้า และสาขาก่อสร้าง ที่หดตัวถึง ร้อยละ 7.2 และร้อยละ1.6 ตามลำดับ ในส่วนของชั่วโมงการทำงานเพิ่มขึ้น โดยชั่วโมงการทำงานภาพรวม และชั่วโมงการทำงานเอกชนอยู่ที่ 41.4 และ 44.3 ตามลำดับ เช่นเดียวกับผู้ทำงานล่วงเวลาที่มีจำนวนกว่า 6.4 ล้านคน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 12.4 ขณะที่ผู้เสมือนว่างงานลดลงกว่าร้อยละ 11.3 อัตราการว่างงานปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง อยู่ที่ ร้อยละ 1.05 โดยผู้ว่างงานมีจำนวน 4.2 แสนคน



ระเด็นที่ต้องติดตามในระยะถัดไป ได้แก่



1. การขาดแคลนแรงงานด้านดิจิทัลและไอที จากการปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัล ทำให้ในแต่ละปีมีความต้องการแรงงานสายงานไอทีประมาณ 2-3 หมื่นตำแหน่ง แต่กลับมีผู้จบการศึกษาในด้านนี้ไม่เพียงพอ



2. รายได้และการจ้างงานของแรงงานภาคเกษตรกรรม จากผลกระทบของปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่จะส่งผลต่อการเพาะปลูกและผลผลิตของเกษตรกร



3. พฤติกรรมการเลือกงานโดยคำนึงถึงค่าตอบแทนที่สูงและสมดุลในชีวิตของคนรุ่นใหม่



           ในส่วนของการเพิ่มค่าแรง ตามนโยบายการหาเสียงของพรรคการเมืองในช่วงการเลือกตั้ง ทั้งเชิงบวกและลบ โดยเชิงบวกคือ แรงงานมีรายได้เพิ่มขึ้น ส่วนเชิงลบ คือ ภาคธุรกิจมีต้นทุนเพิ่ม ซึ่งจะมีการส่งผ่านต้นทุนไปสู่ราคาสินค้า ดังนั้น ต้องมีการพิจารณาให้ดีจากสถานการณ์ เนื่องจากจะเกี่ยวพันกับเรื่องการตัดสินใจของนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในไทย ซึ่งก็ต้องมีการเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ด้วย



       ที่สำคัญถ้ามีการปรับเพิ่มเงินเดือนของผู้จบปริญญาตรี จะส่งผลทั้งภาครัฐและเอกชนได้รับผลกระทบ รัฐต้องปรับโครงสร้างเงินเดือนใหม่ ซึ่งส่งผลต่อภาระงบประมาณที่จะเพิ่มขึ้น ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบอีกครั้ง ถ้าแรงงานเงินไม่พอใช้ต้องกลับมาดูทักษะแรงงาน และค่าครองชีพแต่ละพื้นที่ ซึ่งมองว่าค่าแรงไม่ควรเท่ากันหมดทั้งประเทศ เพราะค่าครองชีพต่างกัน จะปรับขึ้นหรือไม่ ต้องไปพูดคุยกับคณะกรรมการไตรภาคี



          สำหรับสถานการณ์หนี้สินครัวเรือนในไตรมาส 4/65 ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ขณะที่คุณภาพสินเชื่อภาพรวมทรงตัว แต่ต้องติดตามสินเชื่อเพื่อยานยนต์ที่มีสินเชื่อเสี่ยงเป็นหนี้เสียเพิ่มขึ้น และบัญชีหนี้เสียในสินเชื่อส่วนบุคคลยังคงเพิ่มขึ้น ในไตรมาส 4/65 หนี้สินครัวเรือน มีมูลค่า 15.09 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 ชะลอตัวจาก ร้อยละ4.0 ของไตรมาสที่แล้ว แต่เมื่อปรับฤดูกาลเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 จากไตรมาสก่อน และมีสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ร้อยละ 86.9 ความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนทรงตัว โดยสัดส่วน NPLs ต่อสินเชื่อรวมในระบบธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ร้อยละ 2.62 ทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว



          อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการชำระหนี้ยังมีความเสี่ยงในสินเชื่อรถยนต์ที่มีสัดส่วนสินเชื่อกล่าวถึงพิเศษ (SMLs) ต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสินเชื่อส่วนบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ยังมีมูลค่าสูงและมีบัญชีหนี้เสียเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ หนี้สินครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงจะส่งผลต่อเศรษฐกิจ ซึ่งต้องอาศัยทุกภาคส่วนในการเร่งรัดแก้ไขปัญหา



          สำหรับแนวโน้มหนี้สินครัวเรือนในไตรมาส 1/66 เป็นเรื่องที่ยังมีความกังวล และเป็นระเบิดเวลา แม้ที่ผ่านมาจะมีการแก้ไขปัญหาต่อเนื่องจากทั้งฝ่ายรัฐบาล และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แต่หนี้ครัวเรือนที่พุ่งขึ้นมาแล้ว ยากที่จะทำให้ลดลงในเวลาอันสั้น ประกอบกับช่วงที่ผ่านมาไทยประสบภาวะโควิด-19 ด้วย ทำให้หนี้ครัวเรือนพุ่งค่อนข้างสูง ดังนั้น จึงต้องมีการแก้ปัญหาต่อเนื่อง โดยเฉพาะระดับตัวบุคคล ที่จะต้องมีความเข้าใจเรื่องกำลังการใช้จ่ายของตนเอง ถึงความเข้าใจในการซื้อสินค้าบางประการที่ไม่จำเป็น เพื่อจัดการหนี้เดิมและไม่สร้างหนี้ใหม่ ขณะเดียวกัน เรื่องการตลาดของภาคธุรกิจ เช่น การผ่อน 0% ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นด้วย



       ส่วนเรื่องนโยบายรัฐสวัสดิการ เนื่องจากไทยมีข้อจำกัดเรื่องการหารายได้ ในต่างประเทศการจัดสวัสดิการพื้นฐานมาจากรายได้ภาษีที่ค่อนข้างสูงมาก แต่ของไทยฐานภาษีค่อนข้างแคบ แม้จะมีผู้ยื่นแบบเสียภาษีถึง 10-11 ล้านคน แต่ผู้ที่เสียภาษีจริงมีไม่เกิน 4 ล้านคนเท่านั้น ดังนั้น รัฐต้องทำนโยบายพุ่งเป้า ชัดเจนว่าจะช่วยเหลือประชาชนกลุ่มใด แบบใด โดยมองว่าการช่วยแบบถ้วนหน้าจะมีความเสี่ยงต่อฐานะการเงินการคลังในระยะยาว ขณะเดียวกัน ต้องมีการปรับโครงสร้างภาษี เพื่อสร้างรายได้เพิ่ม เพื่อนำส่วนหนึ่งมาใช้ในสวัสดิการ และอีกส่วนเพื่อลงทุนเพื่อพัฒนาประเทศด้วย



       สำหรับคุณสมบัติของผู้จะเข้ามาดูแลทีมเศรษฐกิจในรัฐบาลต่อไปนั้น นายดนุชา เชื่อว่าคนที่จะเข้ามาต้องมีความสามารถอยู่แล้ว ประชาชนถึงได้เลือกเข้ามา ในส่วนของหน่วยงานภาครัฐทั้งหมดที่มีความรับผิดชอบเรื่องเศรษฐกิจ ก็ต้องเดินหน้าต่อในนโยบายหลายอย่าง เพื่อให้ประเทศสามารถเดินต่อไปข้างหน้าได้



 



#สังคมไทย

ข่าวทั้งหมด

X