จากปัญหาที่ผู้ใช้ทางทางพิเศษศรีรัช ช่วงงามวงศ์วาน-พญาไท-พระราม 9 ประสบปัญหาการจราจรติดขัดอย่างหนักเข้าขั้นวิกฤตทั้งในและนอกช่วงเวลาเร่งด่วน เนื่องจาก ทางพิเศษศรีรัช งามวงศ์วาน-พญาไท-พระราม 9 ต้องรับภาระการจราจรจากทุกทิศทางทั้งจากกรุงเทพฯ ชั้นนอกและกรุงเทพฯ ชั้นใน การทางพิเศษแห่งประเทศไทย หรือ กทพ. จึงศึกษาแนวทางที่เหมาะสมและความเป็นไปได้ของโครงการทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 (งามวงศ์วาน-พระราม 9) ซึ่งจะซ้อนทับอยู่บนทางพิเศษศรีรัช มีจุดเริ่มต้นโครงการบริเวณทางแยกต่างระดับงามวงศ์วานไปจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณถนนพระราม 9 รวมระยะทาง 17 กิโลเมตร ซึ่งพื้นที่โครงการจะครอบคลุมพื้นที่อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี และพื้นที่กรุงเทพฯ 7 เขต ได้แก่ เขตบางซื่อ เขตจตุจักร เขตพญาไท เขตดุสิต เขตราชเทวี เขตดินแดง และเขตห้วยขวาง
ตลอดระยะเวลาการศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ การทางพิเศษฯ ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลข่าวสารของโครงการอย่างถูกต้อง ครบถ้วน และได้มีส่วนร่วมในการให้ข้อมูล ข้อเสนอแนะ ซึ่งโครงการจะนำไปพิจารณาประกอบการศึกษาและพัฒนาโครงการให้มีความเหมาะสมและครบถ้วนสมบูรณ์ต่อไป
สำหรับในวันนี้ (22 พ.ค.66) เป็นการจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 เพื่อนำเสนอผลการคัดเลือกแนวสายทางเลือกและรูปแบบแนวสายทางเลือกที่เหมาะสม พร้อมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน มีผู้จัดการโครงการ,วิศวกรโครงการ,ผู้ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อม และผู้เชี่ยวชาญด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน ร่วมชี้แจง
โดยปัจจัยสำคัญในการพิจารณาแนวสายทางที่เหมาะสม คือ ต้องไม่กระทบกับระบบระบายน้ำในพื้นที่,ต้องไม่กระทบกับสถานที่สำคัญ เช่น ศาสนสถาน โบราณสถาน โรงเรียน โรงพยาบาล เป็นต้น ต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างน้อยที่สุด และกระทบกับสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
แนวสายทางที่ศึกษามี 3 แนวสายทาง และสรุปผลคัดเลือกแนวสายทางที่ 3 ซึ่งเหมาะสมที่สุด ทั้งในด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และไม่มีการเวนคืนที่ดินเอกชนเพิ่มเติม โดยจะมีด่านเก็บค่าผ่านทาง 2 ตำแหน่ง ได้แก่ ด่านเก็บค่าผ่านทางบริเวณประชาชื่น และด่านเก็บค่าผ่านทางบริเวณมักกะสัน มีทางขึ้น-ลง 3 ตำแหน่ง ได้แก่ ทางขึ้น-ลงจุดเริ่มต้นโครงการบริเวณทางแยกต่างระดับงามวงศ์วาน,ทางขึ้น-ลงบริเวณย่านพหลโยธิน และทางขึ้น-ลงจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณโรงพยาบาลพระราม 9 และตำแหน่งที่มีเฉพาะทางลง 1 ตำแหน่ง ได้แก่ ทางลงบริเวณทางแยกต่างระดับมักกะสัน
ขณะที่ประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มาร่วมรับฟังในวันนี้ แสดงความคิดเห็นที่หลากหลาย โดยมีข้อกังวลและข้อเสนอแนะ เช่น แนวก่อสร้างทางโครงการอยู่ใกล้โรงงานผลิตน้ำสามเสน รวมถึงมีจุดตัดกับอุโมงค์ส่งน้ำของการประปานครหลวง บริเวณถนนประชาชื่นกับถนนประดิพัทธ์ จึงห่วงกังวลผลกระทบต่อระบบการผลิตและส่งน้ำ,เป็นห่วงว่าระหว่างก่อสร้างอาจกระทบต่อการเดินรถของรถไฟฟ้าบีทีเอสสถานีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และสถานีสนามเป้า,ความกังวลว่าอาจจะกระทบกับปัญหาจราจรบริเวณด่านเก็บค่าผ่านทาง หรือทางขึ้น-ลงของโครงการ นอกจากนี้ ยังมีข้อกังวลเรื่องผลกระทบด้านเสียง แรงสั่นสะเทือน และฝุ่นละออง,ผลกระทบในการเข้า-ออกอาคารสถานที่ต่างๆ ,ผลกระทบด้านสัญญาณวิทยุ โทรทัศน์ โทรศัพท์,และความกังวลต่ออุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างก่อสร้าง
นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูนสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ระบุว่า จะให้บริษัทที่ปรึกษา รวบรวมความคิดเห็น ข้อห่วงใย และข้อเสนอแนะของประชาชนในวันนี้ เพื่อหาคำตอบ แนวทางแก้ปัญหาให้ได้ทุกข้อ และนำขึ้นเว็บไซต์ให้ประชาชนได้ตรวจสอบและติดตามความคืบหน้าของโครงการ เพื่อความโปร่งใส โดยยืนยันว่า กทพ.จะยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นหลักสำคัญ และจะแก้ไขปัญหาต่างๆ ตามหลักวิชาการ
หลังจากนี้จะมีการประชุมรับฟังความคิดเห็นแบบกลุ่มย่อย และจะมีการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 3 ในช่วงเดือนสิงหาคมนี้ จากนั้นจะสรุปผลการศึกษาและผลการรับฟังความคิดเห็น ก่อนจะขออนุมัติรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ในช่วงเดือนสิงหาคม ปี 2567 จากนั้นจะเสนอกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรีพิจารณา คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในช่วงปี 2568 และคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงปี 2573 ประมาณการวงเงินก่อสร้างเบื้องต้น 30,000 ล้านบาท กทพ.คาดหวังว่า โครงการทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 (งามวงศ์วาน-พระราม 9) จะช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรและลดเวลาเดินทางให้กับประชาชน
#การทางพิเศษแห่งประเทศไทย
#ทางด่วนยกระดับชั้นที่2