17 พ.ค.2566 พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เพื่อความเป็นสิริมงคล เริ่มต้นฤดูการเพาะปลูก

17 พฤษภาคม 2566, 06:32น.


          การจัดงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ วันพุธที่ 17 พฤษภาคม2566 ตามฤกษ์พิธีไถหว่าน ระหว่างเวลา 08.09-08.39 น.งานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพระราชพิธีที่สืบเนื่องมาแต่โบราณมีความงดงามและมีความหมายต่อพสกนิกรชาวไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาชีพการทำนาและผู้ประกอบอาชีพการเกษตร



          นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ทำหน้าที่พระยาแรกนา เปิดเผยว่า พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ หรือที่นิยมเรียกว่า พิธีแรกนา กำหนดจัดขึ้นในราวเดือนหกของทุกปี หรือเดือนพฤษภาคมที่มีฤกษ์ยามที่เหมาะสมต้องตามประเพณีให้จัดขึ้น



           ในเวลานั้นอันถือเป็นเวลาที่เหมาะสมในการเริ่มต้นฤดูกาลแห่งการทำนา ซึ่งเป็นอาชีพหลักของประชาชนคนไทย เพื่อความเป็นสิริมงคลและบำรุงขวัญเกษตรกรให้เกิดความมั่นใจในการเพาะปลูก ทั้งนี้ พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญได้สืบทอดมายาวนาน ตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี และได้กระทำเต็มรูปบูรพประเพณีครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ. 2479 เว้นไปจนกระทั่งในปี พ.ศ. 2503 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ฟื้นฟูพระราชประเพณีนี้ขึ้นใหม่และได้กระทำติดต่อเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน เว้นแต่ปี พ.ศ.2563-2564 ซึ่งประเทศไทยประสบสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ไม่ได้จัดงานพระราชพิธีฯ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิธีปลุกเสกเมล็ดพันธุ์ข้าวพระราชทาน เพื่อเป็นเมล็ดพันธุ์สำหรับเพาะปลูก ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพิธีหว่านข้าวในแปลงนาทดลอง สวนจิตรลดา และได้เริ่มมีการจัดพระราชพิธีฯ ในรูปแบบปกติ เมื่อปี 2565



          ก่อนที่จะมีการจัดงานพระราชพิธีในวันนี้ เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2566 เวลาประมาณ 06.30 น. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดการซ้อมใหญ่งานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ณ ท้องสนามหลวง โดยมี ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำหน้าที่พระยาแรกนา เทพีคู่หาบทอง ได้แก่ นางสาวดวงพร งามประดิษฐ์ นักจัดการงานทั่วไปชำนาญการ กรมวิชาการเกษตร และนางสาวชลธิชา ทองอ่อน นายสัตวแพทย์ชำนาญการ กรมปศุสัตว์ เทพีคู่หาบเงิน ได้แก่ นางสาวปนัดดา เปี่ยมมอญ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนางสาวภัทรปภา มินรินทร์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ กรมส่งเสริมการเกษตร พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานฝ่ายต่าง ๆ เพื่อให้ทุกฝ่ายมีความพร้อมในการจัดงานพระราชพิธีในวันนี้



          ขณะที่ เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2566 เวลาประมาณ 19.00 น. ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ทำหน้าที่พระยาแรกนาในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี พุทธศักราช 2566 และเทพีคู่หาบทอง เทพีคู่หาบเงิน ทำพิธีล้างมือพระยาแรกนาและเจิมหน้าพระโค เพื่อความเป็นสิริมงคลและสร้างความคุ้นเคยกับพระโคแรกนาก่อนการเริ่มพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในเช้าวันนี้ โดยพระโคแรกนาในปีนี้ คือ พระโคพอ และพระโคเพียง พระโคคู่สำรอง คือ พระโคเพิ่ม และพระโคพูล ณ โรงพระโคยืน มณฑลพิธีท้องสนามหลวง





          ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้กรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานดำเนินการคัดเลือกโคเพื่อใช้ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ โดยศูนย์วิจัยการผสมเทียมและเทคโนโลยีชีวภาพราชบุรี สังกัดสำนักเทคโนโลยีชีวภาพการผลิตปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ ได้ดำเนินการคัดเลือกพระโคตามหลักเกณฑ์ที่เหมาะสม คือ จะต้องเป็นโคที่มีลักษณะดี รูปร่างสมบูรณ์ มีความสูงไม่น้อยกว่า 150 เซนติเมตร ความยาวลำตัวไม่น้อยกว่า 120 เซนติเมตร ความสมบูรณ์รอบอกไม่น้อยกว่า 180 เซนติเมตร โคทั้งคู่จะต้องมีสีเดียวกัน ผิวสวย ขนเป็นมัน กิริยามารยาทเรียบร้อย ฝึกง่าย สอนง่ายไม่ดุร้าย เขาลักษณะโค้งสวยงามเท่ากัน ตาแจ่มใส หูไม่มีตำหนิ หางยาวสวยงามดี มีขวัญหน้า ขวัญทัดดอกไม้ซ้ายขวา และขวัญหลังถูกต้อง มีขาและกีบข้อเท้าแข็งแรง มองดูด้านข้างลำตัวจะเป็นสี่เหลี่ยม





           พระโคแรกนา ได้แก่ พระโคพอ และพระโคเพียง โดยพระโคพอ มีความสูง 165 เซนติเมตร ความยาวลำตัว 225 เซนติเมตร ความสมบูรณ์รอบอก 214 เซนติเมตร อายุ 11 ปี ส่วนพระโคเพียง มีความสูง 169 เซนติเมตร ความยาวลำตัว 238 เซนติเมตร ความสมบูรณ์รอบอก 209 เซนติเมตร อายุ 11 ปี พระโคสำรอง ได้แก่ พระโคเพิ่ม และพระโคพูล ซึ่งเป็นโคพันธุ์ขาวลำพูน

          เมื่อวันจันทร์ที่ 15 พฤษภาคม 2566 นายสุรเดช สมิเปรม รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประชุมเชิงปฏิบัติการฝึกซ้อมผู้เข้าเฝ้ารับพระราชทานโล่รางวัล ในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี 2566 และร่วมแสดงความยินดีกับผู้ได้รับพระราชทานโล่รางวัลประจำปี 2566 ประกอบด้วย ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน รวม 2 สาขา เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ รวม 16 สาขา ผู้แทนสถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ รวม 12 กลุ่ม ผู้แทนสหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ รวม 3 สหกรณ์ และในปี 2565 ประกอบด้วย ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน 1 สาขา เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ 1 สาขา รวมผู้เข้ารับพระราชทานโล่รางวัลทั้งสิ้น จำนวน 35 ราย โดยผู้ได้รับการคัดเลือก จะได้เข้าเฝ้ารับพระราชทานโล่รางวัล ในวันนี้ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง#พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ



CR:ขอบคุณข้อมูล-ภาพ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์,กรมปศุสัตว์ 

ข่าวทั้งหมด

X