กรมชลฯ ชู 12 มาตรการ 6 แนวทาง รับฤดูฝน สำรองน้ำช่วงฝนทิ้งช่วง

15 พฤษภาคม 2566, 12:48น.


          กรมชลประทานติดตามการรายงานจากกรมอุตุนิยมวิทยาที่คาดการณ์ว่า ไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคมนี้ ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณฝนปกติประมาณร้อยละ 5 และมีโอกาสสูงที่พายุหมุนเขตร้อนจะเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ในช่วงเดือนสิงหาคมหรือกันยายน 









          นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน  จึงย้ำให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ ปฏิบัติตามมาตรการฤดูฝนปี 2566 ของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ หรือ กอนช.โดยกรมชลประทานมี 6 แนวทางปฏิบัติ คือ กักเก็บเต็มประสิทธิภาพ,คาดการณ์พื้นที่เสี่ยง,หลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวาง,หลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวาง,ระบบชลประทานเร่งระบาย,Standby เครื่องมือเครื่องจักร,แจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์ รวมทั้งเตรียมรับมืออุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้น ด้วยการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ น้ำท่า กำหนดผู้รับผิดชอบพื้นที่เสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบ ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันติดตามสถานการณ์น้ำและประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชน เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้น นอกจากนี้ยังจัดสรรทรัพยากร เครื่องจักร เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ และเครื่องมืออื่นๆ ที่ประจำอยู่ทั่วประเทศรวม 5,382 หน่วย ให้สามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้ตลอดเวลาด้วย





          นอกจากนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา ยังคาดการณ์ว่า ในช่วงเดือนมิถุนายน ถึงเดือนกรกฏาคม มีแนวโน้มจะเปลี่ยนเข้าสู่ภาวะเอลนีโญ และจะต่อเนื่องไปในช่วงเดือนธันวาคม 2566-กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งจะทำให้เกิดฝนทิ้งช่วงและอาจเกิดภัยแล้ง แต่กรมชลประทานได้บริหารจัดการน้ำต้นทุนที่มีสำรองอยู่ประมาณ  2 หมื่นล้านลูกบากศ์เมตร เฉพาะลุ่มเจ้าพระยามีน้ำสำรอง ประมาณ 6,500 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อใช้ในการเกษตรและอุปโภคบริโภค บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในกรณีฝนทิ้งช่วงแล้ว



         ส่วนฤดูแล้งที่ผ่านมา กรมชลประทาน จัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2565/66 ตั้งแต่ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 - 30 เมษายน 2566 เป็นไปตามแผนไม่ขาดแคลน โดยวางแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้ง ไว้ทั้งสิ้น 27,685 ล้านลูกบาศก์เมตร



         เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาวางแผนจัดสรรน้ำไว้ประมาณ 9,100 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อใช้อุปโภคบริโภค การเกษตร อุตสาหกรรม รวมถึงการควบคุมค่าความเค็มและคุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก ตามมาตรการของ กอนช. ปัจจุบันสิ้นสุดฤดูแล้งแล้ว พบว่าการจัดสรรน้ำเป็นไปตามแผนที่วางไว้ ทั้งประเทศมีการใช้น้ำไปทั้งสิ้นประมาณ 25,200 ล้านลูกบาศก์เมตร เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปทั้งสิ้นประมาณ 9,120 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้ในเขตพื้นที่ชลประทานมีน้ำใช้อย่างเพียงพอ ไม่เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำ และยังทำให้มีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนมากกว่าแผนที่วางไว้ เพื่อไม่ให้ขาดแคลนน้ำในกรณีฝนทิ้งช่วง



        ส่วนผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2565/66 พบว่าทั้งประเทศมีการเพาะปลูกรวม 10.38 ล้านไร่  เฉพาะลุ่มเจ้าพระยามีการเพาะปลูกรวม 6.35 ล้านไร่ เป็นไปตามแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งที่วางไว้



 



#กรมชลประทาน



 

ข่าวทั้งหมด

X