สื่อต่างชาติจับตาเลือกตั้งไทย คาดมีผู้ใช้สิทธิ์สูงเป็นประวัติการณ์

14 พฤษภาคม 2566, 15:20น.


          สื่อต่างชาติเกาะติดข่าวเลือกตั้งของประเทศไทย สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น บีบีซีและรอยเตอร์ รายงานว่า ประชาชน 52 ล้านคนไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งส.ส.รวม 500 คน ในวันนี้ ในจำนวนนี้ มีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรก 3.3 ล้านคน มีผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้าทะลุ 2 ล้านคน มีพรรคการเมืองแข่งขัน 67 พรรค



           ซีเอ็นเอ็น รายงานว่า พรรคฝ่ายค้าน หวังว่า กลุ่มผู้สนับสนุนของพรรค จะแสดงความไม่พอใจต่อเรื่องการสืบทอดอำนาจ และการบริหารนโยบายเศรษฐกิจ ของรัฐบาลปัจจุบัน นับเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกตั้งแต่มีการประท้วงใหญ่ในปี 2563 และเป็นการเลือกตั้งครั้งที่ 2 นับแต่มีการทำรัฐประหารในปี 2557



           นักวิเคราะห์ ระบุว่า พรรคเพื่อไทย ของน.ส.แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ตัวเก็งชนะการเลือกตั้ง แม้ว่าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.)ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะมีคะแนนเป็นรองในผลสำรวจแทบทุกครั้ง แต่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เตือนว่า ประมาท พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้ เนื่องจากสายสัมพันธ์กับกลุ่มชนชั้นนำของสังคมไทย



           พรรคก้าวไกล ซึ่งมีคะแนนนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในการสำรวจของโพลล์ระยะหลังๆ จะเป็นตัวแปรสำคัญที่จะเปลี่ยนทิศทางการเลือกตั้งในครั้งนี้ เป็นพรรคที่สนับสนุนการปฏิรูปโครงสร้างในทุกๆ รวมถึงปฏิรูปกองทัพ ชูนโยบายประเทศไทยต้องเปลี่ยนแปลง ขณะเดียวกัน พรรคภูมิใจไทยของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีสาธารณสุข เป็นพรรคขนาดกลางที่มีบทบาทสำคัญในการเจรจาจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งทุกครั้ง



          บีบีซีระบุว่า เป็นไปได้ยากที่พรรคเดียวจะชนะการเลือกตั้งแบบครองเสียงข้างมาก แม้ว่าพรรคเดียวจะไม่ชนะเด็ดขาดด้วยคะแนนเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร แต่พวกเขาไปจับมือกับพันธมิตรจนกระทั่งมีเสียงข้างมากในสภาแล้ว ก็อาจจะไม่สามารถเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดให้สมาชิกวุฒิสภา หรือ สว. 250 คน มีสิทธิ์โหวตเลือกตั้งนายกรัฐมนตรี และรัฐบาลชุดต่อไปด้วย หรือ อาจจะเกิดปัญหาร้องเรียนอื่นๆต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง จนกระทั่งเกิดอุปสรรคทางการเมือง ทำให้พรรคที่ชนะเลือกตั้ง มีจำนวนเสียงส.ส.ไม่มากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลหรือคว้าเก้าอี้นายกรัฐมนตรี



          นอกจากนี้ สว.รวม 250 คน แต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร ส่วนใหญ่ยกมือสนับสนุนญัตติต่างๆที่เสนอโดยรัฐบาลเดิมคือ พรรคพลังประชารัฐมาตลอด ไม่เคยยกมือสนับสนุนพรรคฝ่ายค้าน ในทางเทคนิค พรรคการเมืองเดียวที่ไม่ต้องพึ่งพาเสียงสนับสนุนจากสว.250 เสียงจะต้องมีเสียงสนับสนุน 376 คน จากส.ส.500 คน จะมีสิทธิ์คว้าเก้าอี้นายกรัฐมนตรี จัดตั้งรัฐบาลเพื่อบริหารประเทศ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ทำได้ยาก



           นักวิเคราะห์หลายคน คาดว่า จะมีผู้ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งในครั้งนี้สูงเป็นประวัติการณ์ ผลสำรวจของโพลล์ ระบุว่า พรรคฝ่ายค้าน นำโดยเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล คว้าที่นั่งส.ส.มากที่สุด แต่ทั้งสองพรรค ไม่มีตัวช่วยสำคัญคือ เสียงสว.250 เสียงในมือที่จะช่วยเปิดทางให้พรรคฝ่ายค้านเดิมเข้ามาทำหน้าที่บริหารประเทศโดยสะดวก เนื่องจาก กติกาตามที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2560 เอื้ออำนวยให้กับพรรครัฐบาลเดิมมากกว่า



          นายเบน เกียรติขวัญกุล หุ้นส่วนของมาเวอริค คอนเซาท์ติ้ง กรุ๊ป (Maverick Consulting Group) ที่ปรึกษาด้านกิจการของรัฐ ระบุว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นบททดสอบระหว่างฝ่ายอนุรักษ์นิยมกับฝ่ายที่ชูนโยบายความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆของประเทศ ระบุว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นปัญหาที่ใหญ่กว่าประเด็นที่ว่า คนชอบ หรือไม่ชอบ นายทักษิณ ชินวัตร (อดีตนายกรัฐมนตรี) หรือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์ แต่จะชี้ขาด 2 ฝ่ายคือ ระหว่าง สายอนุรักษ์นิยม กับ สายเสรีนิยมของคนรุ่นใหม่



#สื่อต่างชาติ



#เกาะติดการเลือกตั้ง

ข่าวทั้งหมด

X