สำนักข่าวเกียวโด รายงานว่า รัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางจาก 7 ประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก หรือกลุ่ม G7 คือ แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น อังกฤษ และสหรัฐฯ บวกกลุ่มสหภาพยุโรป(อียู) ร่วมประชุมในเมืองนีงาตะ ทางภาคกลางของญี่ปุ่น 3 วัน เริ่มจากวันนี้ เพื่อหารือมาตรการสร้างความมั่นใจให้กับภาคธนาคาร การประสานมาตรการต่างๆ เพื่อนำไปสู่การยุติสงครามในยูเครน รวมถึงการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจรัสเซีย
โดยเฉพาะการจำกัดราคาขายน้ำมันรัสเซียในตลาดโลก เพื่อลดรายได้จากการขายน้ำมันของรัสเซีย และหารือเรื่องปัจจัยเสี่ยงอื่นๆที่กระทบต่อเศรษฐกิจโลกเช่น ปัญหาด้านซัพพลายเชน ขณะเดียวกัน นายเซอร์เก มาร์เชนโก รัฐมนตรีคลังของยูเครนจะเข้าร่วมประชุมร่วมกับรัฐมนตรีคลังจากกลุ่ม G7 ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์
การประชุมครั้งนี้มีขึ้น ในช่วงเวลามีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างที่อาจจะกระทบต่อเศรษฐกิจโลก เช่น การล้มละลายของธนาคารระดับภูมิภาคของสหรัฐฯเมื่อเดือนมีนาคม ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนในตลาดหุ้นมากขึ้น จากเดิมที่กังวลอยู่ก่อนแล้วจากการที่ธนาคารกลางของประเทศหลักๆเช่น สหรัฐฯและกลุ่มสหภาพยุโรป ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง เพื่อควบคุมเงินเฟ้อซึ่งยังคงอยู่ในระดับที่สูง ทำให้หลายฝ่ายหวั่นเกรงว่า หลายประเทศทั่วโลกเข้าสู่ภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ
ด้านญี่ปุ่น ในฐานะประธานกลุ่ม G7 ประจำปีนี้ หวังว่า การประชุมครั้งนี้ จะมีความเป็นเอกภาพในเรื่องการจัดการกับภัยคุกคามด้านความมั่นคงจากรัสเซียและประเทศจีน ที่แตกต่างจากการประชุมครั้งก่อนๆ คือ เจ้าภาพได้เชิญประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่ม G7 เช่น บราซิล อินเดีย อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ สิงคโปร์และโคโมโรสในฐานะประธานสหภาพแอฟริกา( African Union)ประจำปีนี้ เข้าร่วมประชุมกับกลุ่ม G7 ในครั้งนี้ เพื่อพูดคุยปัญหาสำคัญระดับโลก เช่น ปัญหาหนี้สาธารณะซึ่งกระทบกับกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำจนถึงกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลาง
การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการรุกรานยูเครนของรัสเซีย ทำให้กลุ่ม G7 มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันมากขึ้นในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา
#กลุ่มG7
#หารือวิกฤตธนาคารและการคว่ำบาตรรัสเซีย