บีบีซีรายงานว่า กลุ่มนักลงทุนชาวเอเชีย รวมถึงนักลงทุนรายหนึ่งในสิงคโปร์ ซึ่งลงทุนในหุ้นกู้ของธนาคารเครดิต สวิส(Credit Suisse)ของสวิตเซอร์แลนด์ พร้อมนักลงทุนรายย่อยหลายพันคนทั่วโลกยื่นฟ้องคดีต่อศาลในสวิตเซอร์แลนด์ เรียกค่าเสียหายจากรัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ ฐานบริหารผิดพลาด โดยบังคับให้ธนาคารเครดิต สวิส ขายกิจการให้คู่แข่งคือ ธนาคาร UBS ในเดือนมีนาคม หลังจากหลายฝ่ายหวั่นเกรงว่า ธนาคารเครดิต สวิส มีปัญหาสภาพคล่องทางการเงินจนถึงขั้นปิดกิจการ ส่งผลให้หุ้นกู้แปลงสภาพโดยมีเงื่อนไข(Contingent Convertible Bonds) หรือที่รู้จักกันในชื่อ หุ้นกู้ AT1 ของธนาคารเครดิต สวิส มูลค่ารวม 17,000 ล้านดอลลาร์ที่บรรดานักลงทุนซื้อไว้ กลายเป็นเพียงเศษกระดาษที่ไร้มูลค่า ไม่ได้รับเงินชดเชยคืน
นักลงทุนจากสิงคโปร์ ระบุว่า เหตุการณ์ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก สำหรับตัวเขาเป็นลูกค้าของธนาคารเครดิต สวิสมาหลายปี เขาจึงซื้อพันธบัตรในรูปหุ้นกู้ของธนาคารเครดิตสวิสมูลค่า 500,000 ดอลลาร์ในเดือนมกราคม แม้ว่าก่อนหน้านี้ ธนาคารจะมีเรื่องอื้อฉาวต่างๆมากมาย และมีปัญหาถูกฟ้องให้ปฏิบัติตามข้อตกลงไกล่เกลี่ยกับหน่วยงานกำกับกฎระเบียบสหรัฐฯ ซึ่งทุกครั้งที่นักลงทุนสิงคโปร์รายนี้สอบถามปัญหาต่างๆ เจ้าหน้าที่ธนาคารเครดิต สวิส จะให้ความมั่นใจแก่ลูกค้าเช่น ตอบว่าเป็นปัญหาเล็กน้อย แก้ไขไม่ยาก ปกติ บริษัทเอกชนส่วนใหญ่นิยมเสนอขายหุ้นกู้ให้กับนักลงทุน เพื่อเป็นช่องทางการระดมเงินทุนให้กับบริษัท เมื่อพวกเขาเห็นว่า มีความจำเป็น โดยจ่ายผลตอบแทนสำหรับนักลงทุน
โดยเฉพาะหุ้นกู้ AT1 ของธนาคารเครดิต สวิส ให้ผลตอบแทนในอัตราสูงกว่าหุ้นกู้อื่นๆ แต่มีความเสี่ยงสูงกว่าหุ้นกู้อื่นๆ อีกทั้งมูลค่าหุ้นกู้อาจจะร่วงมาเหลือศูนย์ หรือไร้มูลค่าในกรณีธนาคารประสบป้ญหาทางธุรกิจและการเงินต้องขายกิจการ ดังเช่นกรณีที่เกิดขึ้นกับธนาคารเครดิต สวิส
สำหรับประเด็นข้อโต้แย้งสำหรับนักลงทุนคือ ใครควรจะได้รับเงินชดใช้คืนก่อน ระหว่างผู้ถือหุ้นกู้ กับ ผู้ถือหุ้นทั่วไป ซึ่งโดยหลักการ ผู้ถือหุ้นกู้ต้องได้รับเงินคืนก่อน แต่ในทางปฏิบัติ ปรากฎว่าผู้ถือหุ้นของธนาคารเครดิต สวิสตกลงให้มีการแลกหุ้นกับหุ้นของ UBS ในราคาต่ำมาก หมายความว่า นักลงทุนที่ซื้อหุ้นก็ยังได้หุ้นคืน แม้มูลค่าหุ้นจะลดลงจากเดิม แต่นักลงทุนที่ซื้อหุ้นกู้จะได้รับความเสียหาย ไม่ได้รับเงินคืนจากธนาคาร
#ฟ้องรัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์
#เครดิตสวิสล้มละลาย