คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. สาธิตวิธีการลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ส. โดยแบ่งเป็นการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า การลงคะแนนเลือกตั้งทั่วไป และการอำนวยความสะดวกแก้ผู้พิการ ทุพพลภาพและชราภาพ
นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. เปิดเผยว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ จะอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนทุกด้าน ทั้งหน้าหน่วยเลือกตั้งที่จะมีบอร์ดไวนิลรายชื่อผู้สมัคร พรรค และเบอร์ เพื่อให้ประชาชนได้ตรวจสอบก่อนลงคะแนน เมื่อเข้าไปในหน่วยแล้วก็ยังมีบอร์ดไวนิลรายชื่อ เบอร์ และพรรคของผู้สมัคร ติดตั้งไว้ใกล้คูหา เพื่อให้ประชาชนได้ดูซ้ำอีกครั้งด้วย
โดยการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า 7 พ.ค.นี้ ผู้ใช้สิทธิ จะได้รับบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ สีม่วง สำหรับเลือก ส.ส.เขต สีเขียวสำหรับเลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อ และซองใส่บัตร เมื่อลงคะแนนแล้ว ต้องนำบัตรทั้ง 2 ใบ พับตามรอยประ ใส่ลงไปในซองทั้ง 2 บัตรด้วยตัวเอง แล้วให้กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งเซ็นชื่อ ซึ่งซองจะเจาะรูไว้ทั้ง 2 ด้าน เพื่อให้เห็นว่ามีบัตรทั้ง 2 ใบ จากนั้นผู้ใช้สิทธิ ต้องนำซองไปหย่อนใส่หีบบัตรเอง ซึ่งการเลือกตั้งล่วงหน้าจะมีหีบใบเดียว
ส่วนการเลือกตั้งทั่วไป วันที่ 14 พ.ค. ผู้ใช้สิทธิจะได้รับบัตรลงคะแนน 2 ใบเช่นกัน เมื่อลงคะแนนแล้ว ให้พับบัตรให้เรียบร้อย แล้วนำไปหย่อนลงหีบบัตรที่จะมี 2 ใบ สำหรับ ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ตรวจสอบให้ชัดเจน เพื่อจะได้หย่อนไม่ผิดหีบ
สำหรับผู้พิการทางสายตา ที่สามารถเซ็นชื่อ หรือเขียนหนังสือเองได้ จะมีกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ช่วยอำนวยความสะดวก พาไปรับบัตรลงคะแนน และพาไปคูหา แต่ผู้พิการที่มาใช้สิทธิ จะต้องลงลายมือชื่อเอง และกาบัตรลงคะแนนเอง โดยจะมีบัตรภาพอักษรเบลล์ ไว้บริการ และจะต้องนำบัตรมาหย่อนลงหีบบัตรเอง โดยกรรมการประจำหน่วยจะช่วยบอกว่า หีบบัตรไหนเป็นของ ส.ส.เขตหรือบัญชีรายชื่อ กรณีผู้พิการที่ไม่มีแขน ก็ยังสามารถใช้เท้าเซ็นเชื่อและกาบัตรได้
กรณีเป็นผู้พิการหรือทุพพลภาพ หรือคนชรา ที่ไม่สามารถเซ็นชื่อหรือกาบัตรเองได้ ต้องยื่นคำร้องแสดงความจำนง ให้ญาติพี่น้องที่มาด้วย เป็นผู้ลงคะแนนแทน โดยจะมีใบคำร้องที่หน่วยเลือกตั้ง ให้ปั๊มลายนิ้วมือ และกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ต้องบันทึกเหตุการณ์เพื่อความโปร่งใสด้วย จากนั้นให้เข้าไปในคูหาพร้อมกับผู้ลงคะแนนแทน โดยผู้ใช้สิทธิจะต้องบอกกับผู้ลงคะแนนแทนว่าจะกาเบอร์ไหน ซึ่งจะรู้กันเพียงสองคนเท่านั้น แล้วนำบัตรมาหย่อนลงหีบบัตรพร้อมกัน
เลขาธิการ กกต. เชื่อว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะลดจำนวนบัตรเสียและลดความสับสนของประชาชนได้ เนื่องจากมีการอำนวยความสะดวกทุกด้าน โดยเฉพาะบอร์ดรายชื่อและหมายเลขผู้สมัคร ซึ่งนำมาใช้ครั้งนี้เป็นครั้งแรก จึงขอให้ประชาชนมาใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งและหน่วยลงคะแนนได้ผ่านแอปพลิเคชัน Smart Vote ส่วนคนที่ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าวันที่ 7 พ.ค.นี้ ขอให้มาลงคะแนนในวันดังกล่าว เพราะหากไม่มาใช้สิทธิ จะไม่สามารถไปใช้สิทธิในวันที่ 14 พ.ค. ได้ จะต้องยื่นชี้แจงเหตุผลไม่ไปใช้สิทธิ ก่อนหรือหลังเลือกตั้ง 7 วัน
ส่วนผู้สมัคร ยังสามารถหาเสียงได้ตามปกติในวันเลือกตั้งล่วงหน้า แต่จะต้องไม่รบกวนการลงคะแนนที่หน่วยเลือกตั้ง แต่ห้ามจำหน่ายสุรา รวมทั้งผู้มาลงคะแนน ห้ามถ่ายรูปบัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนแล้ว ห้ามทำลายบัตรเลือกตั้ง และห้ามนำบัตรเลือกตั้งออกนอกหน่วยเลือกตั้ง ส่วนการร้องเรียนทุจริตเลือกตั้ง ขณะนี้มีผู้ร้องเข้ามาแล้ว 78 เรื่อง เช่น ซื้อเสียง หลอกลวง และเจ้าหน้าที่รัฐไม่เป็นกลาง ซึ่ง กกต.กำลังพิจารณาสืบสวนข้อเท็จจริง
ด้านการนับคะแนน หลังการปิดหีบลงคะแนน กกต.ได้ซักซ้อมกับกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง หรือ กปน.หลังปิดหีบเลือกตั้งเพื่อนับคะแนน ทั้งการจัดเตรียมสถานที่ การขานคะแนนให้เสียงดังฟังชัด พร้อมโชว์บัตรลงคะแนนให้ชัดเจน โดยพรรคการเมืองและประชาชนทั่วไปสามารถเข้าสังเกตการณ์การนับคะแนนดังกล่าวได้
แต่หากเกิดความผิดพลาดทั้งการขานคะแนนและการขีดคะแนนบนกระดาน ผู้สังเกตการณ์สามารถทักท้วงได้ทันที กปน.จะบันทึกเหตุการณ์ไว้ โดยสามารถร้องเรียนต่อกกต.ได้ หลังการนับคะแนนในแต่ละหน่วยเสร็จสิ้นแล้ว จะส่งผลคะแนนทั้งหมดมายังสำนักงาน กกต. คาดว่าจะรู้ผลอย่างไม่เป็นทางการในเวลา 22.00 น.
เลขาธิการกกต. ยังได้กำชับการทำโพลสำรวจในช่วงที่มีการเลือกตั้งว่า สามารถทำได้ แต่ต้องทำโดยสุจริต ไม่ใช่จูงใจ ย้ำว่า ในช่วงระยะเวลา 7 วันก่อนวันเลือกตั้งสามารถทำโพลได้ แต่ห้ามเปิดเผยโพล โดยจะสามารถเปิดเผยผลโพลได้อีกครั้ง หลังปิดหีบเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค.นี้
#เลือกตั้ง66
#คณะกรรมการการเลือกตั้ง