ทีดีอาร์ไอเตือนพรรคการเมือง ใช้นโยบายหาเสียงกระตุ้นเศรษฐกิจเกินศักยภาพ ก่อหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น

01 พฤษภาคม 2566, 19:14น.


          สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เผยนโยบายหาเสียงเกือบทุกพรรคน่าจะทำให้มีการใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นจนขาดดุลงบประมาณอย่างมากในช่วง 4 ปีข้างหน้า นอกจากจะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วแล้วยังอาจทำให้เศรษฐกิจขาดเสถียรภาพเพราะขยายตัวในระดับที่ร้อนแรงเกินไป ภายใต้สภาพที่ความเสี่ยงของเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ (demand-pull inflation) ยังไม่ผ่อนคลายและอาจเร่งตัวขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แม้เงินเฟ้อด้านอุปทาน (supply-side inflation) ซึ่งเกิดขึ้นก่อนหน้านี้จากการที่พลังงานมีราคาเพิ่มสูงขึ้นจะผ่อนคลายไปแล้วก็ตาม หากเงินเฟ้อขยับสูงขึ้นต่อเนื่องจนไม่สามารถควบคุมได้จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจอย่างรุนแรง และทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท. ถูกบังคับให้ต้องปรับสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อต้นทุนทางการเงินของธุรกิจและซ้ำเติมภาวะหนี้ครัวเรือนซึ่งอยู่ในระดับสูงอยู่แล้ว ซึ่งทำให้กลุ่มเปราะบางที่พรรคการเมืองต้องการช่วยเหลือกลับได้รับผลกระทบในด้านลบ



          โดยข้อมูลที่พรรคการเมืองรายงานต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มี 4 พรรคที่ต้องใช้งบประมาณมากในระดับ 1 ล้านล้านบาท ได้แก่ พรรคภูมิใจไทย 1.9 ล้านล้านบาท, พรรคเพื่อไทย 1.8 ล้านล้านบาท, พรรคก้าวไกล 1.3 ล้านล้านบาท และพรรคพลังประชารัฐ 1 ล้านล้านบาท แต่ข้อมูลที่พรรคการเมืองนำเสนอต่อประชาชนยังไม่สมบูรณ์



* ข้อเสนอแนะต่อพรรคการเมือง



         เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากวิกฤตโควิด แม้ว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะไม่สูงมากนัก แต่ก็ไม่ได้อยู่ในสภาวะเศรษฐกิจถดถอยจนต้องกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ดังที่หลายพรรคการเมืองเสนอ นอกจากนี้แม้อัตราเงินเฟ้อได้ลดลงบ้างแล้วจากการที่ราคาพลังงานในตลาดโลกมีเสถียรภาพมากขึ้น แต่ก็ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดเงินเฟ้อหากรัฐบาลใหม่กระตุ้นเศรษฐกิจมากเกินไป



          พรรคการเมืองที่ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลใหม่จึงควรกำหนดเงื่อนเวลาของการดำเนินตามนโยบายที่หาเสียงที่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจในแต่ละปี โดยควรระวังไม่ให้การกระตุ้นเศรษฐกิจทำให้เศรษฐกิจขยายตัวสูงเกินกว่าระดับตามศักยภาพ (potential GDP growth)มากเกินไป เพราะจะทำให้เกิดเงินเฟ้อและมีผลต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และควรเก็บกระสุนไว้ใช้กระตุ้นในกรณีที่เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงเช่นเมื่อเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย



          พรรครัฐบาลควรระวังการก่อหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นจากการขาดดุลงบประมาณอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากหนี้สาธารณะของไทยหลังวิกฤตโควิด-19 ในระดับ 61% ของ GDP ไม่ได้อยู่ในระดับต่ำอีกต่อไปแล้ว และในอนาคตประเทศจะมีภาระเพิ่มขึ้นจากกองทุนประกันสังคมและค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่จะสูงขึ้นอีกมากจากการเป็นสังคมสูงอายุ ดังนั้นหากหนี้สาธารณะสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจากการที่รัฐบาลขาดวินัยการคลัง ก็อาจทำให้เกิดปัญหาความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทย ดังที่หน่วยงานจัดอันดับเครดิต (credit rating agency) ต่างๆ เริ่มแสดงความวิตกกังวลกัน



          พรรคการเมืองต่างๆ ควรยกระดับมาตรฐานการจัดทำเอกสารระบุต้นทุนของนโยบายและที่มาของเงินให้มีคุณภาพสูงขึ้น เพื่อแสดงถึงการเคารพต่อประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ซึ่งควรจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วนในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง





 



#นโยบายหาเสียง



อ่านฉบับเต็ม: https://tdri.or.th/2023/04/policy-costing-comments/

ข่าวทั้งหมด

X