สภาพอากาศทั่วโลกที่ร้อนขึ้นในหลายภูมิภาค ส่งผลให้หลายประเทศมีความต้องการใช้ และนำเข้าเครื่องปรับอากาศจากไทยมากขึ้น นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า จากสภาพอากาศดังกล่าวทำให้ไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน อันดับ 2 ของโลก เป็นรองเพียงจีน โดยปี 2565 ไทยส่งออกไปตลาดโลก 7,044 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 เทียบช่วงเดียวกันของปี 2564 ส่วนช่วง 2 เดือน (ม.ค.-ก.พ.) ปี 2566 ส่งออกมูลค่า 1,423 ล้านเหรียญฯ เพิ่มร้อยละ 1 เทียบช่วงเดียวกันปี 2565 โดยเครื่องปรับอากาศแบบติดหน้าต่างหรือติดผนัง มีสัดส่วนส่งออกสูงถึงร้อยละ 68 ของการส่งออกเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วนทั้งหมด ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป อาเซียน ออสเตรเลีย อินเดีย และญี่ปุ่น
อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศของไทยมีโอกาสส่งออกมากขึ้น เพราะได้เปรียบด้านอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตอย่างครบวงจร รวมทั้งการเติบโตของภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งผู้ประกอบการสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่ไทยมีกับคู่ค้า 18 ประเทศ ขยายส่งออกสินค้าไปตลาดคู่เอฟทีเอได้ ซึ่งจะช่วยปลดล็อกกำแพงภาษีและสร้างแต้มต่อให้กับสินค้าไทย
ปัจจุบันคู่ค้าเอฟทีเอ 16 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู และฮ่องกง ไม่เก็บภาษีนำเข้าเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วนจากไทยแล้ว เหลือเพียง 2 ประเทศ ได้แก่ จีน และอินเดีย ที่ยังคงเก็บภาษีนำเข้าบางรายการ เช่น จีน เก็บภาษีเครื่องปรับอากาศในยานยนต์ร้อยละ 5 และอินเดีย เก็บภาษีเครื่องปรับอากาศแบบติดหน้าต่างหรือผนัง และเครื่องปรับอากาศในยานยนต์ร้อยละ 5
ด้านนางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมที่มาแรงในช่วงหน้าร้อนนี้ คือ เครื่องปรับอากาศ โดยในเดือนมี.ค. 66 มีการผลิตเครื่องปรับอากาศสูงสุดในรอบ 8 ปี (MPI มี.ค. 66 อยู่ที่ระดับ144.39 ขยายตัวร้อยละ 7.09) โดยมีปัจจัยสนับสนุนการผลิต ได้แก่
1. อากาศร้อน โดยเฉพาะภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน ที่ส่งผลให้อุณหภูมิทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้น
2. เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ เช่น สามารถดักจับฝุ่น PM 2.5 ละอองสารพิษ ควบคู่กับการประหยัดพลังงาน รวมทั้งการนำ AI เข้ามาใช้การควบคุมอุณหภูมิห้องหรือรับคำสั่งผ่านระบบอัจฉริยะ
3. ตลาดอสังหาริมทรัพย์ ภายในประเทศมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้คำสั่งซื้อในระยะข้างหน้าได้รับอานิสงส์เติบโตในทิศทางเดียวกัน (ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์เปิดใหม่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ปี 66 เปิดขายทั้งหมด 25 โครงการ จำนวน 8,336 หน่วย ขยายตัวร้อยละ 95.7)
สำหรับการส่งออกเครื่องปรับอากาศเดือนมี.ค. มีมูลค่าสูงถึง 849.60 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 16.67 ทำให้ภาพรวมการส่งออก 3 เดือนแรก (ม.ค.-มี.ค. 66) มีมูลค่า 2,272.89 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว ร้อยละ12.85 ไทยส่งออกเครื่องปรับอากาศเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากประเทศจีน (เม็กซิโก อันดับ 3 สหรัฐฯ อันดับ 4 และอิตาลี อันดับ 5)
ขณะที่ตลาดส่งออกหลักของเครื่องปรับอากาศไทย คือ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป อาเซียน ตะวันออกกลาง และอินเดีย โดยคิดเป็นสัดส่วนรวมร้อยละ80 ของมูลค่าการส่งออกเครื่องปรับอากาศทั้งหมดของไทย ทั้งนี้ การผลิตเครื่องปรับอากาศของไทยป้อนตลาดส่งออกเป็นหลัก มากกว่า ร้อยละ 75 และผลิตเพื่อจำหน่ายภายในประเทศประมาณร้อยละ 25 ในส่วนของการจำหน่ายในประเทศ เพิ่มขึ้น ตั้งแต่เดือนพ.ย. 65 เนื่องจากภาวะโลกร้อนส่งผลให้คำสั่งซื้อโตต่อเนื่อง
#ผลิตเครื่องปรับอากาศ
#ส่งออกแอร์