ความคืบหน้ากรณีแอม ไซยาไนด์ ที่มีกระแสข่าวว่า ผู้ก่อเหตุเคยมีประวัติรับการรักษา ที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ล่าสุด พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ได้แจ้งให้ทางสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ไปตรวจสอบแล้ว ซึ่งชื่อเดิมของสถาบัน คือ นิติจิตเวช เป็นโรงพยาบาล (รพ.) แม่ข่ายของกรมสุขภาพจิตดูแลพื้นที่เขตสุขภาพที่ 5 ใน 8 จังหวัด ได้แก่ ราชบุรี, นครปฐม, สุพรรณบุรี, กาญจนบุรี, สมุทรสาคร, สมุทรสงคราม, เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ จึงเป็นไปได้ว่าจะมีประชาชนเข้ามารับการรักษา
แต่ขณะนี้ยังไม่มีการยืนยันข้อมูลว่า ผู้ก่อเหตุเคยเข้ารับการรักษาที่สถาบันจริงหรือไม่ คาดว่าจะมีความชัดเจนในวันนี้ แต่การเป็นผู้ป่วยหรือไม่ ก็ไม่ใช่ประเด็นชี้ขาด เพราะ พญ.อัมพรเอง ก็เป็นผู้ป่วยของโรงพยาบาลศรีธัญญาเช่นกัน เนื่องจากต้องรับยาบางอย่าง เช่น นอนไม่หลับ ซึ่งผู้ป่วยที่มีอาการเครียด นอนไม่หลับ ก็สามารถไปรับคำปรึกษาที่สถาบันกัลยาณ์ฯได้ ดังนั้น ผู้ป่วยในสถาบัน จึงไม่จำเป็นต้องมีโรครุนแรง หรือโรคจิตเภท ก็มารับการรักษาได้
กรณีหากผู้กระทำผิดอ้างว่าป่วยจิตเวช แล้วจะได้รับโทษน้อยลงหรือไม่ พญ.อัมพร ยืนยันว่า ประเด็นนี้ไม่เป็นความจริง เพราะถ้ากระทำความผิด ก็ต้องรับโทษตามกระบวนการยุติธรรม เพียงแต่ศาลจะพิจารณาโทษอย่างไรเท่านั้น จึงไม่ได้แปลว่า ป่วยแล้วจะลอยนวล
ส่วนกรณีแอม จะเข้าข่ายฆาตกรต่อเนื่อง หรือไซโคพาธ (Psychopath) หรือไม่ พญ.อัมพร ระบุว่า แพทย์ไม่สามารถมองใครแล้วบอกว่าเป็นโรคอะไร เพราะผิดจรรยาบรรณแพทย์ การจะวินิจฉัยได้ก็ต่อเมื่อมีการซักประวัติ ตรวจสุขภาพแล้ว และย้ำว่าจิตแพทย์ก็จะไม่เอาข้อมูลเหล่านั้น มาถ่ายทอดสู่สาธารณะ แต่หากเจาะที่พฤติกรรมตามที่สื่อถ่ายทอดมา หากมีการวางยา หวังทรัพย์ โดยไม่คำนึงชีวิตผู้เสียหายนั้น ในมิติของจิตเวชจะเรียกเป็นนิสัย ไม่จัดว่าเป็นโรคสัมพันธ์ เพียงแต่มีลักษณะของบุคคลนั้นๆ เรียกว่า ไซโคพาธ ปัจจุบันใช้คำว่า บุคลิกภาพต่อต้านสังคม (Antisocial) ซึ่งจะหมายถึงผู้ที่ไม่มีคุณธรรม จริยธรรม ไม่คำนึงถึงความรู้สึกของคนอื่น และใช้ความปรารถนาของตัวเองเป็นศูนย์กลาง เช่น โกรธแล้วทำลายล้าง ทำให้คนอื่นเป็นทุกข์เพื่อระบายความโกรธ หรืออยากได้ทรัพย์สิน อยากได้ความสัมพันธ์ทางเพศ ก็สามารถทำลายชีวิตคนอื่น เพื่อความปรารถนาของตัวเองได้
และถึงแม้ว่าไซโคพาธ จะเป็นบุคลิกภาพที่ไม่ให้โรค แต่ก็มีผลต่อการเกิดโรคทางจิตเวช เพราะการมีบุคลิกผิดปกติ ปรับตัวยาก ก็ก่อให้เกิดโรคทางจิตเวชบางอย่าง แล้วไปหนุนให้บุคลิกภาพนั้นให้รุนแรงขึ้น แต่การจะมองว่าเป็นโรคทางจิตเวช หรือเป็นเพียงพฤติกรรม จะต้องดูว่าอารมณ์ที่เป็นปัญหานั้น ทำให้ไม่สามารถทำหน้าที่ หรือดำเนินชีวิตปกติได้ เช่น ทำงานกับใครไม่ได้ ใช้ชีวิตกับคนอื่นไม่ได้ ไปจนถึงการกระทำที่ละเมิดต่อกฎหมาย กระทบศีลธรรม หรือใช้สารเสพติด
พญ.อัมพร ยังระบุว่า ในกรณีฆาตกรรมต่อเนื่อง ต้องเป็นการก่อเหตุซ้ำ 2 ครั้งขึ้นไป จึงใช้คำว่าฆาตกรรมต่อเนื่องได้ ซึ่งจะมีรายละเอียดเชิงจิตใจต่างกันไป กรณีที่เกิดขึ้นเป็นการหวังทรัพย์ ซึ่งเกิดขึ้นได้บ่อยกว่าปัจจัยอื่นๆ เช่น การลงมือกระทำในคนบางเชื้อชาติ โดยจะแยกจากโรคจิตเวชได้ยาก
#แอมไซยาไนด์
#วางยาฆ่าเพื่อน