ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า อุณหภูมิที่ร้อนขึ้นอาจกลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเพิ่มเติมที่ส่งผลต่อค่าใช้จ่ายครัวเรือนให้ปรับเพิ่มขึ้นใน 3 หมวดหลัก คือค่าไฟฟ้า ค่าอาหาร และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสุขภาพในช่วงฤดูร้อนปี 2566 ค่าไฟของครัวเรือนต่อเดือนเฉลี่ยของผู้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนเมืองเพิ่มขึ้นราว 30-50% ทำให้คาดว่าค่าไฟฟ้าของครัวเรือนเฉลี่ยในช่วงเดือน มี.ค.-พ.ค. ในปีนี้จะอยู่ที่ราว 974-1,124 บาทต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดือนอื่น ๆ ของปีที่คาดว่าจะอยู่ที่ราว 871 บาทต่อครัวเรือน ซึ่งเป็นไปตามค่า Ft เฉลี่ยปีนี้ที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน รวมไปถึงความต้องการใช้ไฟฟ้าที่กลับมาสูงสุดในรอบ 3 ปี โดยในช่วง มี.ค.-พ.ค. 2566 ปริมาณการใช้ไฟเฉลี่ยของครัวเรือนอาจเพิ่มขึ้นราว 14% เมื่อเทียบกับช่วงเดือนอื่น ๆ ของปี นอกจากนี้ อุณหภูมิที่สูงขึ้นยังส่งผลให้เครื่องใช้ไฟฟ้ามีแนวโน้มทำงานหนักขึ้น โดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศและตู้เย็นที่ต้องใช้อัตราการใช้ไฟฟ้ามากกว่าปกติเพื่อที่จะทำงานให้ได้เท่าเดิม ส่งผลให้ครัวเรือนต้องจ่ายค่าไฟแพงขึ้น
ส่วนด้านอาหาร เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด กระทบผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง หรือเกิดการเน่าเสียได้ง่ายกว่าปกติ โดยราคาหมูเฉลี่ยพบว่าปรับเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 2 และราคาผักและผลไม้ที่ค่อนข้างแพงกว่าปกติในช่วงเดือน มี.ค.-พ.ค. โดยเฉพาะราคามะนาวที่ปรับเพิ่มกว่าร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับราคาในช่วงเดือนอื่น ๆ ของปี นอกจากนี้ ธุรกิจร้านอาหารก็มีต้นทุนส่วนเพิ่มจากการที่ต้องใช้น้ำแข็งและตู้แช่เพื่อเก็บรักษาวัตถุดิบบางประเภทที่เน่าเสียง่าย เช่น อาหารทะเล เนื้อสัตว์
ด้านค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ คาดว่ามีแนวโน้มปรับสูงขึ้นจากการใช้จ่ายเพื่อรักษาโรคที่มากับความร้อน เช่น โรคไมเกรน อาหารเป็นพิษ ท้องเสีย โรคทางผิวหนัง เป็นต้น กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงที่อาจจะมีค่าใช้จ่ายในหมวดนี้เพิ่มขึ้น ได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้มีโรคประจำตัว กลุ่มเปราะบาง (เด็กและสตรีมีครรภ์) และกลุ่มอาชีพที่ต้องทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน ขณะที่ค่ายา/เวชภัณฑ์ ค่ารักษาพยาบาล ก็มีแนวโน้มปรับตัวสูงจากอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยที่ปรับเพิ่มขึ้นในปี 2566 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าค่าใช้จ่ายครัวเรือนเฉลี่ยต่อเดือนทั้ง 3 หมวดนี้ (ค่าไฟ ค่าอาหาร ค่าใช้จ่ายสุขภาพ) จะคิดเป็นจำนวนเงินราว 9,666 บาทต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา (ปี 2565) ที่อยู่ที่ราว 8,868 บาทต่อครัวเรือน หรือขยายตัวราวร้อยละ 9.0
การเพิ่มขึ้นของค่าอาหารที่เป็นสัดส่วนค่อนข้างมากในค่าใช้จ่ายครัวเรือน (ราวร้อยละ 34) พบว่าน่าจะทรงตัวในระดับสูงแม้จะผ่านช่วงหน้าร้อนไปแล้ว ขณะที่ค่าไฟฟ้าที่เป็นสัดส่วนน้อย (ราวร้อยละ 3) คาดว่าอาจปรับลดลงได้ในช่วงเดือนอื่น ๆ ของปีนี้ที่อากาศร้อนน้อยลง รวมทั้งมีมาตรการบรรเทาผลกระทบจากภาครัฐในเดือน พ.ค.บางส่วนด้วย โดยค่าใช้จ่ายครัวเรือนของทั้ง 3 หมวดนี้คิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 39 ของค่าใช้จ่ายครัวเรือนทั้งหมด ท่ามกลางค่าครองชีพที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ขณะที่รายได้ยังใกล้เคียงเดิม ทำให้ครัวเรือนต้องมีการปรับลดค่าใช้จ่ายหมวดอื่น ๆ ที่อาจมีความจำเป็นน้อยกว่า เช่น ลดการใช้จ่ายในกลุ่มสินค้าอื่นๆ เพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายใน 3 หมวดที่ปรับเพิ่มขึ้น
#ศูนย์วิจัยกสิกรไทย