ทุกวันนี้ "สื่อ"ไม่ได้หมายถึงสื่อโทรทัศน์ วิทยุ หรือหนังสือพิมพ์อีกต่อไป เพราะสื่อยุคใหม่ คือ สื่อออนไลน์ ที่เข้าถึงได้ง่าย เข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา อีกทั้งเป็นสื่อที่สามารถสื่อสารได้ 2 ทาง แต่การเข้าถึงได้ง่ายของสื่อ ก็ทำให้เกิดข้อห่วงใยด้านข้อมูลที่นำเสนอต่อเยาวชนโดยตรง ที่อาจไม่ผ่านการคัดกรองด้านความถูกต้องน่าเชื่อถือ จริยธรรม และอันตรายที่แฝงมากับสื่อ
กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.จึงมอบทุนวิจัยแก่บริษัท ซูเปอร์โพล เพื่อวิจัย-วิเคราะห์พฤติกรรมการใช้สื่อของเยาวชน เตรียมจัดทำหลักสูตรความพร้อมของเยาวชนที่สนใจเข้าสู่อาชีพสื่อสารมวลชน เป็นสื่อรุ่นใหม่ที่ผลิตรายการอย่างมีจริยธรรมและน่าสนใจไปพร้อมกัน โดยอาจารย์วิวัฒน์ เลาหบุตร์ ที่ปรึกษาซูเปอร์โพล เป็นผู้นำเสนอผลวิจัย
ผลการวิจัยของซูเปอร์โพล พบว่า จากการสำรวจความเห็นของเยาวชน อายุ 18-24 ปี จากทั่วประเทศ จำนวนกว่า 3 หมื่นคน พบว่า เยาวชนส่วนใหญ่ ใช้สื่อออนไลน์เพื่อความบันเทิงเป็นอันดับ 1 รองลงมาคือ เพื่อการเรียนรู้,การติดตามข่าวสาร,การซื้อของออนไลน์ และเพื่อการทำงาน
นอกจากนี้ ปัจจุบันพบว่า ผู้ที่รับสื่อก็สามารถเป็นผู้เผยแพร่สื่อหรือแสดงความคิดเห็นตอบโต้กลับไปยังผู้เผยแพร่สื่อได้ด้วยการใช้โทรศัพท์มือถือเพียงเครื่องเดียว การผลิตเนื้อหาหรือคอนเทนต์ กลายเป็นสินค้าหรือบริการ ซึ่งเยาวชนยุคใหม่ มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีในการผลิตสื่ออย่างมาก แต่สิ่งสำคัญที่ต้องสร้างความตระหนัก คือมารยาทและจริยธรรมในการนำเสนอสื่อ เพื่อป้องกันการใช้สื่อเผยแพร่ข่าวปลอม ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหรือหลอกลวง ทำร้ายผู้อื่น ซูเปอร์โพลจึงทำวิจัยเพื่อจัดทำ "หลักสูตร เยาวชนคนรุ่นใหม่ ใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ สร้างอาชีพ สร้างสังคมสู่อนาคต" พร้อมระดมความคิดเห็นรอบด้านจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้ได้หลักสูตรที่ทันสมัย ตรงความต้องการเรียนรู้ของเยาวชน ตอบโจทย์ข้อห่วงใยด้านการใช้สื่ออย่างรอบด้าน และนำเสนอ กสทช.ต่อไป
นายตรี บุญเจือ ผู้อำนวยการสำนักรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ (สำนักงาน กสทช.) เปิดเผยว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการในวันนี้ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน บุคลากรที่ทำงานในแวดวงสื่อสารมวลชน ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับสื่อออนไลน์ ตัวแทนสภาเยาวชน ผู้ปกครอง รวมทั้งหน่วยงานรัฐ เช่น กสทช.และตำรวจไซเบอร์ เพื่อพัฒนาหลักสูตรเตรียมความพร้อมให้กับเยาวชนในการเข้าสู่อาชีพสื่อมวลชน มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เยาวชนมีความรอบรู้ มากกว่าการรู้ทันสื่อ และความเห็นจากทุกภาคส่วนในวันนี้ จะนำไปสู่การสร้างสรรค์หลักสูตรเพื่อใช้ในการอบรมเตรียมความพร้อมเยาวชนที่จะเข้าสู่อาชีพสื่อสารมวลชนต่อไป
#กองทุนกทปส
#ซูเปอร์โพล
#สื่อสร้างสรรค์