กทพ.ร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย ส่งเสริมการใช้ปูนลดโลกร้อน ก่อสร้างทางพิเศษ

25 เมษายน 2566, 16:25น.


          ปัญหาก๊าซเรือนกระจก ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ส่งผลกระทบไปทั่วโลก การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ตระหนักถึงปัญหานี้ จึงจับมือร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย หรือ TCMA ขับเคลื่อน Mission 2023 ด้วยการใช้วัสดุก่อสร้างที่สร้างคาร์บอนต่ำ ที่เรียกว่า "ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก" ในทุกการก่อสร้างเครือข่ายระบบทางพิเศษ  เพื่อลดก๊าซเรือนกระจก  สนับสนุน Thailand Net Zero สู้วิกฤตเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) อย่างยั่งยืน



          นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กล่าวว่า  การลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย เพื่อใช้ปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำในโครงการก่อสร้างของการทางพิเศษ จะเริ่มจาก 2 โครงการ คือ



1. โครงการทางพิเศษฉลองรัชส่วนต่อขยาย (ช่วงจตุโชติ-ถนนลำลูกกา) ระยะทาง 16.21 กิโลเมตร ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี มูลค่าการลงทุน 24,060.04 ล้านบาท



2. โครงการระบบทางด่วนชั้นที่ 3 สายเหนือ ระยะที่ 1 (ตอน N2 ถนนประเสริฐมนูกิจเชื่อมต่อไปยังถนนวงแหวนรอบนอก กรุงเทพมหานครด้านตะวันออก) ระยะทาง 11.3 กิโลเมตร มูลค่าการลงทุน 16,960 ล้านบาท         



          นายสุรเชษฐ์ ซึ่งประเมินว่า จากทั้ง 2 โครงการ จะสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ 34,104 ตันคาร์บอนไดออกไชด์  เทียบเท่ากับปลูกไม้พื้นเมืองเพื่อดูดชับคาร์บอนไดออกไซด์กว่า 3,500,000 ต้น  จากนั้นจะทยอยนำปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก ใช้แทนที่ปูนซีเมนต์แบบเดิม โดยมีเป้าหมายลดก๊าชเรือนกระจก 1,000,000  ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ภายในปี 2566 และเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน



                   ด้าน ดร.ชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย  ระบุว่า พร้อมสนับสนุนนโยบายภาครัฐ Thailand Net Zero ให้สำเร็จตามเป้าหมาย สนับสนุนนโยบายลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ  โดยนอกจากเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจก 1,000,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ภายในปี 2566 แล้ว จากนั้น ในวันที่ 1  มกราคม 2567 ประเทศไทยจะก้าวสู่ยุคใหม่ที่ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกจะเข้ามาเป็นปูนโครงสร้างหลักแทนปูนซีเมนต์แบบเดิม



          ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กทพ.ดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับความปลอดภัยของผู้ใช้ทางพิเศษ เช่น การลงทุนสีเขียว การจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว มาใช้ในกระบวนการทำงาน เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายระบบคมนาคมสีเขียว  ตามกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย ระยะ 20 ปี  รวมทั้งตอบสนองนโยบายประเทศด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ให้คำมั่นไว้ในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP 26 ด้วย



#การทางพิเศษแห่งประเทศไทย



#ลดโลกร้อน

ข่าวทั้งหมด

X