นายมานิต ปานเอม ผู้ว่าการการประปานครหลวง (กปน.) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน กปน.ได้รับผลกระทบจากต้นทุนหลักการผลิตน้ำประปาเพิ่มขึ้นทุกอย่าง ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายสูงขึ้นมาก ประกอบด้วย
1.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างรัฐบาลเรียกเก็บที่ราชพัสดุ กปน.ต้องเสีย 150 ล้านต่อปี จากเดิมไม่ต้องเสีย
2.ค่าน้ำดิบจ่ายให้กับกรมชลประทานวันละ 3 ล้านบาท
3.ค่าไฟเพิ่มขึ้น 20-30% หรือประมาณ 20 ล้านบาทต่อเดือน จากค่าเอฟทีของรอบเดือนมกราคม-เมษายน 2566 ปรับขึ้นกว่า 90 สตางค์
4.ค่าธรรมเนียมการวางท่อเป็น 100 ล้านบาทต่อปี
ซึ่งแม้ต้นทุนจะสูงขึ้น แต่ กปน.จะตรึงค่าน้ำไว้ให้นานที่สุด ขณะเดียวกันพยายามบริหารจัดการต้นทุนทุกด้านให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น การใช้ไฟฟ้า โดยจ่ายน้ำตามความต้องการใช้ เป็นต้น
นายมานิต ระบุว่า ตอนนี้อัตราค่าน้ำต้นทุนต่อหน่วยเพิ่มขึ้น เช่น ที่พักอาศัยอยู่ที่ 11 บาทต่อลูกบาศก์เมตร สูงกว่าปัจจุบันที่ขายในอัตรา 8.50 บาทต่อลูกบาศก์เมตร ขณะนี้จึงกำลังพิจารณาอัตราค่าน้ำให้สอดรับต้นทุนเพิ่มขึ้น หลังไม่ได้ขึ้นค่าน้ำมา 23 ปี เพื่อบริหารสภาพคล่องด้านการเงิน ขยายการผลิตในโครงการ 9 รวมถึงการประสิทธิภาพและพัฒนาระบบน้ำประปา ทั้งนี้ เมื่อ 5-6 ปีก่อน กปน.เคยขอรัฐบาลขึ้นค่าน้ำ เช่น ที่พักอาศัยจาก 8.50 บาทต่อลูกบาศก์เมตร เป็น 11-12 บาทต่อลูกบาศก์เมตร แต่ไม่ได้รับอนุมัติ
ด้านนายมงคล วัลยะเสวี รองผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) กล่าวว่า ตอนนี้ กปภ.อยู่ระหว่างศึกษาโครงสร้างค่าน้ำใหม่ ตามต้นทุนเพิ่มขึ้น 15-20% ทั้งจากค่าไฟ ค่าสารเคมี เพื่อขอขึ้นค่าน้ำ หลังไม่ได้ขึ้นมากว่า 10 ปี อีก 2 เดือนจะแล้วเสร็จ จากนั้นเสนอให้รัฐบาลใหม่พิจารณา ว่าจะให้ปรับขึ้นหรือไม่ หรือจะให้ดำเนินการอย่างไรต่อไป เพราะหากได้รับอนุมัติให้ขึ้นค่าน้ำได้ จะทำให้มีรายได้นำไปพัฒนาระบบน้ำประปาและลงทุนใหม่ๆ ได้ เช่น วางท่อใหม่
ซึ่งก่อนหน้านี้ กปภ.เคยขอปรับขึ้นค่าน้ำจากกระทรวงมหาดไทยแล้ว แต่ไม่ได้รับอนุมัติ และขอให้ กปภ.ประหยัดค่าใช้จ่ายแทน เพราะไม่มีสูตรคิดค่าน้ำเหมือนค่าไฟที่ปรับขึ้นได้ตามค่าเอฟที เวลาจะขอขึ้นก็ต้องขอกระทรวงมหาดไทยและคณะรัฐมนตรี ปัจจุบันค่าน้ำที่พักอาศัยอยู่ที่ประมาณ 12 บาทต่อลูกบาศก์เมตร ส่วนภาคธุรกิจจะเก็บแบบขั้นบันได ตั้งแต่ 15-25 บาทต่อลูกบาศก์เมตร
#ค่าไฟแพง
#น้ำประปา