กลุ่มนักรณรงค์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมตัวกันที่ด้านหน้าอาคารรัฐสภาของสหราชอาณาจักร เนื่องในวันคุ้มครองโลก (22 เม.ย.) เพื่อเรียกร้องให้มีความร่วมมือกันเพื่อลดภาวะโลกร้อน ขณะเดียวกันอาสาสมัครจากหลายประเทศทั่วโลกเข้าร่วมในกิจกรรมปลูกต้นไม้และเก็บขยะ เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 54 ปีของวันคุ้มครองโลก
กิจกรรมวันคุ้มครองโลก เกิดขึ้นหลังจากที่ทั่วโลกเผชิญกับสภาพอากาศรุนแรง มีอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย ขณะที่อินเดียมีคลื่นความร้อน ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 13 รายในสัปดาห์ที่ผ่านมา
นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศเตือนว่า อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกอาจแตะระดับสูงสุดอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในปี 2566 หรือ 2567
โดยในปีนี้มีการจัดกิจกรรมเนื่องในวันคุ้มครองโลกหลายเมืองทั้งในด้านการอนุรักษ์และทำความสะอาด เป็นเวลา 1 สัปดาห์ โดยจะเริ่มขึ้นที่กรุงโรมและเมืองบอสตันในวันศุกร์ (21 เม.ย.)
ที่กรุงลอนดอน จะมีกิจกรรม 4 วันต่อเนื่องกันเพื่อต่อต้านการสูญพันธุ์
ที่วอชิงตัน จะเป็นการเรียกร้องให้ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ให้คำมั่นว่าจะยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล จากที่เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (20 เม.ย.) เขาได้ให้คำมั่นว่าจะเพิ่มเงินทุนสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาให้สามารถเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและควบคุมการตัดไม้ทำลายป่าในประเทศบราซิล
และนายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติกล่าวว่ามีการทำงานอย่างจริงจังเพื่อไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นมากกว่า 1.5 องศาเซลเซียส
นักวิทยาศาสตร์เตือนว่า คลื่นความร้อนระอุกำลังสร้างภาระรุนแรงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนต่อการเกษตร เศรษฐกิจ และสาธารณสุขของประเทศอินเดีย ทั้งบั่นทอนความพยายามระยะยาวของหลายประเทศในการลดความยากจน ความไม่เท่าเทียม และความเจ็บป่วย ทั้งเตือนว่า อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกอาจเพิ่มสูงที่สุดในปีนี้หรือในปี 2567 เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการกลับมาของปรากฏการณ์ "เอล นีโญ"
...
#อากาศร้อน
#วันคุ้มครองโลก
#สหประชาชาติ