กกต. จะตรวจสอบนโยบายหาเสียงพรรคการเมืองสัปดาห์หน้า หากเข้าข่ายหลอกลวง ถึงขั้นยุบพรรค

21 เมษายน 2566, 09:58น.


          นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.  เปิดเผยว่า หลังจากพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ทั้ง 70 พรรค ส่งรายละเอียดนโยบายหาเสียงตามมาตรา 57 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมืองให้กับ กกต.แล้ว หลังจากนี้ สำนักงาน กกต. จะต้องศึกษาว่านโยบายของทั้ง 70 พรรคที่เสนอมา มีข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ซึ่งกระบวนการจะต้องทำโดยเร็ว โดยในสัปดาห์หน้าจะนำเข้าสู่ที่ประชุม กกต.



          ตามมาตรา 57 ระบุว่า ถ้าหากเห็นว่าข้อมูลที่พรรคการเมืองส่งมายังไม่ครบถ้วน ก็จะให้โอกาสพรรคการเมืองส่งข้อมูลเพิ่มมาอีกครั้ง แต่หากส่งไม่ครบภายในระยะที่กำหนดจะปรับวันละ 10,000 บาท แต่ปรับไม่เกิน 500,000 บาท แต่ถ้าผลออกมานโยบายหาเสียงไม่ถูกต้อง  ก็ถือว่าเข้าข่ายความผิด พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.มาตรา 73 (5) หลอกลวงให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง เป็นเหตุให้นำไปสู่การพิจารณายุบพรรคได้ตามกฎหมาย  แต่จะต้องพิสูจน์ให้ได้ก่อนว่านโยบายหาเสียงที่ใช้เข้าข่ายความผิดหรือไม่  สำหรับการพิจารณาเกี่ยวกับการกระทำความผิด พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง และพรรคการเมือง กกต.สามารถตรวจสอบเลยได้เลย เนื่องจากกฎหมายกำหนดว่า กกต. พบความปรากฎ หรือจะรับเรื่องร้องเรียนก็ได้



          สำหรับหลักการพิจารณานโยบายพรรคการเมืองมีอยู่ 3 ข้อ คือ 1.มีการระบุวงเงินที่ต้องใช้และที่มาของเงินที่จะใช้ดำเนินการ 2.ระบุความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดำเนินนโยบาย 3.ระบุผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย เรื่องนี้จะต้องใช้องค์ความรู้หลายๆ ด้าน อาจจะใช้ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้วยซึ่งเป็นเรื่องใหญ่และมีความจำเป็น จะวินิจฉัยไปโดยไม่ได้ดูภาพกว้าง หรือฟังความเห็นของผู้เชี่ยวชาญคงจะไม่ได้



          ส่วนการลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.นอกราชอาณาจักร ซึ่งขณะนี้มีบางพื้นที่ที่เกิดการสู้รบและอาจส่งผลกระทบกับการเลือกตั้ง เช่น การสู้รบในซูดานและยูเครน ซึ่งจากการประสานสถานทูตไทยประจำกรุงไคโร ประเทศอียิปต์ ที่ดูแลประเทศซูดาน ได้กำหนดแผนการเลือกตั้งโดยการจัดหน่วยเลือกตั้งเคลื่อนที่ไปบริการ  แต่อาจต้องพิจารณาว่าทำได้หรือไม่  ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของสถานทูต เพราะอยู่ใกล้กับสถานการณ์



          ส่วนที่ยูเครน มีผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้ง 1 คน ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานว่าสถานการณ์เข้าข่ายเคร่งเครียด  แต่ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของสถานทูต โดยการเลือกตั้งที่ยูเครน จะใช้วิธีลงคะแนนทางไปรษณีย์ผ่านบริษัท DHL ซึ่ง กกต.จะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย จึงไม่น่าจะมีปัญหา



          กรณีหากมีการอพยพคนไทย จะเป็นภารกิจของกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งไม่น่ากระทบต่อการเลือกตั้งที่จะจัดขึ้นในประเทศอื่นๆ ส่วนกรณีคนที่ลงทะเบียนใช้สิทธินอกราชอาณาจักรแล้ว ต้องอพยพกลับมาที่ประเทศไทย กกต.คิดว่าไม่น่าจะเสียสิทธิ เพราะถือเป็นเหตุสุดวิสัย แต่ต้องดูอีกครั้งว่า หากจะป้องกันไม่ให้เสียสิทธิ อาจจะต้องแจ้งเหตุที่ไม่ไปใช้สิทธิก็ได้



          สำหรับการส่งบัตรเลือกตั้งกลับมายังประเทศไทยนั้น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอยเมื่อปี 2562 ที่ส่งกลับมานับไม่ทันนั้น   เรื่องนี้ กกต.ได้ซักซ้อมกับกระทรวงการต่างประเทศแล้ว  โดยการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 24 เม.ย.- 5 พ.ค. 2566 จากนั้นจะส่งบัตรล็อตแรกกลับมาถึงไทยภายในวันที่ 9 พ.ค.66  ซึ่งอาจมีบางประเทศที่จะมีล็อต 2 และล็อต 3 ให้ส่งกลับมาถึงไทยภายในวันที่ 12 พ.ค.นี้  โดยก่อนส่ง สถานทูตจะคัดแยกบัตรของผู้ใช้สิทธิ เพื่อสะดวกในการกระจายบัตรไปนับยังภูมิลำเนาของผู้ใช้สิทธิ   เมื่อส่งถึงเมืองไทยแล้ว  จะมีกระบวนการติดตามตลอดการขนส่ง   มีเจ้าหน้าที่ไปรับที่สนามบิน  มาส่งที่ไปรษณีย์  ก่อนกระจายไปยังจังหวัดต่างๆ และนับคะแนนพร้อมกันในวันที่ 14 พ.ค.66   หลังเวลาปิดหีบ 17.00 น.เป็นต้นไป  ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่  เพราะไม่ต้องการให้เกิดปัญหาซ้ำรอยอีก  ยืนยันว่าการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรมีความพร้อม 100%



          ส่วนเรื่องการทุจริตเลือกตั้ง  ขณะนี้มีเรื่องการซื้อเสียงเข้ามา 8 เรื่อง และ 15 เรื่องเป็นการหาเสียงหลอกลวง โดยกกต.ได้แต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้ง 423 คน ซึ่งจะมีผู้ช่วย 1 คน มีชุดเคลื่อนที่เร็วของตำรวจ ที่จะปฏิบัติหน้าที่ 15 วันก่อนวันเลือกตั้ง ซึ่งจะเป็นกลไกช่วยป้องกันทุจริตได้ อีกทั้งมีอาสาสมัครที่มาจากไอลอว์ และวีวอช เข้ามาช่วย จะช่วยป้องกันในระดับหนึ่ง ทั้งนี้ อยากเชิญชวนประชาชนร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้ง ถ้ามีข้อมูลเบาะแสแล้วแจ้งต่อกกต. หากนำไปสู่การพิพากษาว่ามีการกระทำความผิด กกต.มีเงินรางวัลชี้เบาะแสในกรณีถ้าพบการกระทำความผิดของผู้สมัครส.ส. 300,000 – 1,000,000 บาท



          ส่วนกรณีที่ประธาน กกต.ไปติดตามการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรในประเทศที่มีผู้ขอใช้สิทธิไม่มาก จนมีการตั้งข้อสังเกตและวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมคุ้มค่านั้น  ประธาน กกต.ชี้แจงว่า ประเทศที่มีผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิมาก ส่วนใหญ่มีการวางระบบการใช้สิทธิที่ดีอยู่แล้ว แต่ยังมีอีกหลายประเทศที่มีปัญหา การจัดการเลือกตั้งเป็นไปด้วยความลำบาก มีเจ้าหน้าที่น้อย จึงไปติดตามดูแลปัญหา   ส่วนที่ กกต.ไปดูงานต่างประเทศทั้ง 6 คนนั้น เนื่องจากมีเวลาน้อย จะไปเพียง 2-3 ประเทศไม่ได้  ต้องการไปดูให้ทั่วถึง   ส่วนข้อวิจารณ์เรื่องงบประมาณที่ใช้นั้น ยืนยันว่าเป็นไปตามที่ได้รับการจัดสรร  ผ่านการอนุมัติจากสภาผู้แทนราษฎร ผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)  โดยจะให้สำนักงานกกต. ชี้แจงในรายละเอียดอีกครั้ง



          ส่วนค่าของที่ระลึกนั้น สำนักงาน กกต.เป็นผู้ดูแล คิดว่าไม่เกิน 3,000 บาท เพราะทุกคนทราบข้อกฎหมายดี  ส่วนของตนได้มอบเป็นเนคไทแบรนด์ จิม ทอมป์สันให้กับทูตเคนยา และผ้าพันคอให้อุปทูตโมร็อกโค และมอบน้ำพริกพร้อมสมุดบันทึกเล่มเล็กให้กับเจ้าหน้าที่สถานทูตเท่านั้น จึงไม่กังวลที่มีการยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช.ให้ตรวจสอบจริยธรรมอย่างร้ายแรง เพราะทำตามหน้าที่



#เลือกตั้ง66

ข่าวทั้งหมด

X