ประเด็นคนงานเมียนมาเสียชีวิตในห้องพักย่านสาทร ตรวจ ATK ขึ้น 2 ขีด ซึ่งหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า อาจติดโควิด-19 สายพันธุ์ XBB.1.16 เนื่องจาก ก่อนป่วยเป็นไข้และมีอาการตาแดง นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึง กรณีดังกล่าวว่ามีการตรวจเชื้อโควิด-19 ด้วย ATK ซึ่งเป็นการตรวจเบื้องต้น พบว่ามีการติดเชื้อ แต่ว่ายังไม่มีการเก็บตัวอย่างมาตรวจ RT-PCR เพื่อถอดรหัสสายพันธุ์ เจ้าหน้าที่กำลังเก็บตัวอย่างใหม่จากร่างผู้เสียชีวิต ซึ่งจะมีปริมาณเชื้อมากน้อยอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่เสียชีวิตด้วย คาดว่าจะทราบข้อเท็จจริงใน 1-2 สัปดาห์
นพ.โสภณ กล่าวว่า สำหรับข้อสังเกตว่า ผู้เสียชีวิต เสียชีวิตเพราะโควิด-19 หรือไม่นั้น จะต้องดูว่าขณะที่ป่วยมีอาการปอดอักเสบหรือไม่ มีอาการทางระบบทางเดินหายใจจนไม่สามารถแลกเปลี่ยนออกซิเจนในร่างกายได้ จนทำให้หัวใจหยุดเต้นหรือไม่ ซึ่งจะต้องมีการสอบสวนโรคอีกครั้ง ขณะนี้จึงไม่สามารถสรุปข้อมูลได้
สถานการณ์โรคโควิด-19 จำนวนผู้ป่วยทั่วโลกไม่ได้เพิ่มขึ้นเท่าไร อยู่ในช่วงขาลงด้วยซ้ำ ทั้งผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้เสียชีวิต เนื่องจากหมดช่วงฤดูหนาวในประเทศแถบเหนือ ส่วนประเทศไทย ช่วงต้น เม.ย.66ก็พบผู้ติดเชื้อน้อยมากในหลักร้อยที่เข้ามารักษาใน รพ. แต่หลังสงกรานต์ผู้ติดเชื้อเริ่มเพิ่มขึ้นเป็นระลอกเล็ก สถานการณ์ใกล้เคียงกับปีที่แล้ว โดยจะมีผู้ป่วยเพิ่มอีกครั้งในช่วงฤดูฝนกลาง พ.ค.66 เป็นต้นไป ขณะนี้การติดเชื้อใกล้เคียงกับที่คาดการณ์ไว้ ส่วนผู้เสียชีวิตต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้
กรณีคนกังวลเรื่อง XBB.1.16 เพิ่มขึ้น การจะเข้าใจโรคได้ดีต้องมีการเก็บข้อมูล ขอให้ รพ.ดำเนินการสอบสวน หากพบคลัสเตอร์ผู้ป่วยที่มีอาการและตรวจพบโควิด-19 ตัวอย่างที่เหลือจากตรวจเบื้องต้น ขอให้ส่งตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นอกจากนี้ เราได้ข้อมูลจากกรมวิทย์ฯ ส่วนหนึ่งจะสอบย้อนกลับไปว่า คนที่มีผลตรวจทางห้องปฏิบัติการพบสายพันธุ์ XBB.1.16 เคยมีอาการอย่างไรบ้าง ขอให้ รพ.และผู้ป่วยที่หายแล้วให้ข้อมูล เพื่อจะได้มีข้อมูลของประเทศไทย นำไปสู่การวางมาตรการที่เหมาะสม
ด้าน พญ.นฤมล สวรรค์ปัญญาเลิศ ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ปรึกษากรมการแพทย์ กล่าวว่า อาการโควิด XBB.1.16 เป็นข้อมูลที่ได้จากประเทศอินเดียที่มีการระบาดของ โควิด XBB.1.16 มีการรวบรวมข้อมูล โดยอาการของผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการเหมือนอาการของไข้หวัดใหญ่ ที่ประเทศอินเดีย บอกว่า ไม่ได้แตกต่างจากสายพันธุ์อื่นๆที่ผ่านมา มีการเปรียบเทียบระหว่างอาการในผู้ใหญ่ และในเด็ก กรณีผู้ใหญ่ที่เป็นโควิด XBB.1.16 มีไข้ เจ็บคอ น้ำมูกไหล ปวดเมื่อยตามตัว และปวดศีรษะ ส่วนในเด็กจะแตกต่างกันตรงที่ในเด็กจะมีไข้สูง และมีตาแดง เป็นลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากสายพันธุ์อื่นๆ แต่เจอเฉพาะในเด็ก ส่วนในผู้ใหญ่ไม่มีรายงาน
#โควิด19
#โอไมครอนXBB
CR:ขอบคุณข้อมูล-ภาพ www.hfocus.org