สธ.ประชุมรับมือโควิด-19 ปรับยาต้านไวรัสตามกลุ่มผู้ติดเชื้อที่มีความเสี่ยง

18 เมษายน 2566, 18:54น.


          สถานการณ์โควิด-19 นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การระบาดระลอกนี้ หลังเทศกาลสงกรานต์คงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยผู้เสียชีวิตสัปดาห์ล่าสุด 9-15 เม.ย. 2 ราย พบว่า มีอายุน้อยเพศหญิง อายุ 23 ปี และ 24 ปี เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันต่ำไม่ได้รับวัคซีนเลย อีกรายฉีดวัคซีนมานานเกิน 3 เดือน สถานการณ์ใกล้เคียงกับปีก่อน คือ หลังสงกรานต์มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นระลอกเล็ก และมีผู้ป่วยเพิ่มอีกครั้งในช่วงฤดูฝนกลาง พ.ค.เป็นต้นไป ซึ่งใกล้เคียงกับที่คาดการณ์ไว้



          ลักษณะระบาดวิทยาของโควิดใกล้เคียงกับไข้หวัดใหญ่ ซึ่งระบาดตามฤดูกาล เป็นส่วนสำคัญในการตัดสินใจให้วัคซีน โดยไทยมีผลการสำรวจภูมิคุ้มกัน ประชากรมากกว่าร้อยละ90 มีภูมิคุ้มกันต่อโควิดไม่ว่าจากการฉีดวัคซีนหรือติดเชื้อธรรมชาติ การให้ 1 เข็มเป็นวัคซีนประจำปี ห่างจากเข็มสุดท้ายหรือติดเชื้อ 3 เดือน ถ้าฉีดมา 1-2 เดือนก็ให้รอจนครบ 3 เดือนก่อน และวันที่ 1 พ.ค.นี้ กลุ่มเสี่ยงไข้หวัดใหญ่จะรับวัคซีนประจำปีก็รณรงค์พร้อมกัน ทั้งนี้ วัคซีนโควิดรุ่นเดิมรุ่นใหม่ใช้เป็นเข็มกระตุ้นได้



          พญ.นฤมล สวรรค์ปัญญาเลิศ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิและที่ปรึกษากรมการแพทย์ กล่าวว่า สายพันธุ์ XBB.1.16 ในอินเดีย สหรัฐอเมริกา และสิงคโปร์เหมือนกัน คือ เหมือนไข้หวัดใหญ่ ไม่ต่างจากสายพันธุ์อื่นที่ผ่านมา โดยข้อมูลในอินเดียมีการเทียบอาการในเด็กและผู้ใหญ่ โดยในผู้ใหญ่จะพูดว่ามีไข้ เจ็บคอ น้ำมูกไหล ปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะด้วย ส่วนในเด็กแตกต่างจะมีไข้สูงและตาแดง (Pink Eyes) ลักษณะพิเศษเจอในเด็ก



          ดังนั้น การประชุมเมื่อวันที่ 17 เม.ย. ไกด์ไลน์การรักษาโควิด-19 มีการปรับเปลี่ยน 2 ประเด็น คือ 1.ปรับการให้ยาต้านไวรัสในผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรครุนแรง และ 2.ปรับเงื่อนไขในการให้ LAAB สำหรับแนวทางวินิจฉัยดูแลรักษายังเหมือนเดิม คือ ไม่ว่า OPD คลินิก รพ. หรือ รพ.สต. ถ้าผู้ป่วยติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ สงสัยว่าเป็นโควิดให้ตรวจ ATK หรือ RT-PCR ก็ได้ หรือจัดแยกไว้พื้นที่สัดส่วน ถ้าไม่เจอเชื้อพิจารณาดูแลตามเหมาะสม ปฏิบัติ DMH เคร่งครัด 5 วัน ไม่ดีขึ้นใน 48 ชั่วโมงให้ตรวจซ้ำ หากเจอเชื้อให้การรักษาตามอาการผู้ป่วย





          โดยกลุ่มที่มีอาการไม่รุนแรง มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรครุนแรง หรือไม่มีปัจจัยเสี่ยงแต่มีปอดอักเสบเล็กน้อย ไม่ต้องให้ออกซิเจน มีทั้งหมด 11 กลุ่ม ได้แก่ อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด หลอดเลือดสมอง มะเร็ง เบาหวาน อ้วนน้ำหนักมากกว่า 90 กก.หรือ BMI  มากกว่า 30 ตับแข็ง ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ และผู้ติดเชื้อเอชไอวี อาจเป็นผู้ป่วยนอกหรือรับไว้ใน รพ.ขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ โดยกลุ่มนี้มีการปรับเปลี่ยน คือ ให้เลือกยาตัวใดตัวหนึ่ง เริ่มจากแพกซ์โลวิด หรือเรมดิซิเวียร์ หรือโมลนูพิราเวียร์ และ LAAB โดยเริ่มพิจารณาให้นับจากยาที่มีประสิทธิภาพและอาการของคนไข้เป็นหลัก ซึ่งอันดับแรกคือแพกซ์โลวิด เรมดิซิเวียร์ และโมลนูฯ กรณี LAAB สามารถให้ได้





          เนื่องจาก XBB.1.16 ยังพบไม่มาก แต่ต้องให้เร็วที่สุดเมื่อพบผู้ป่วย หากอาการไม่ดีขึ้นใน 24-48 ชั่วโมง ให้ยาตัวอื่นร่วมได้ ย้ำว่ายาต้านไวรัสทั้งหมดที่มียังให้กับโควิดได้ทุกตัว โดยการให้ยาต้านไวรัสพิจารณาจาก 1.ประสิทธิภาพของยาในการลดอัตราป่วยหนักและอัตราตาย ประวัติโรคประจำตัว 2.ข้อห้ามการใช้ยา 3.ปฏิกิริยาต่อกันของยาต้านฯ กับยาเดิมของผู้ป่วย 4.การบริการเตียง และ 5.ความสะดวกของการบริหารยา



           กรณีผู้ป่วยมีอาการปอดอักเสบที่มีภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำกว่า 94% ต้องแอดมิทใน รพ. แนะนำให้เรมดิซิเวียร์ยาฉีด 5-10 วันขึ้นกับอาการทางคลินิก ร่วมกับการให้สเตียรอยด์ ควรหยุดงานทันที



#โควิด19



CR:https://www.facebook.com/100069182200543/videos/141988222168161

ข่าวทั้งหมด

X