รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี รักษาการแทนรองคณบดีฝ่ายดูแลสุขภาพ กล่าวถึงหนังสือของโรงพยาบาลรามาธิบดีเกี่ยวกับมาตรการรองรับกรณีโรคโควิด-19 ซึ่งลงนามเมื่อวันที่ 12 เมษายน ใจความสำคัญให้เตรียมการรักษาหลังพบสายพันธุ์ลูกผสม XBB เพิ่มขึ้น และอาจไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยแอนติบอดีสำเร็จรูปหรือ LAAB จนเกิดข้อกังวลว่า สายพันธุ์นี้มีความรุนแรงหรือไม่ว่า หนังสือที่ออกไปเป็นการแจ้งภายในเพื่อให้แพทย์ผู้ทำการรักษารับทราบถึงเชื้อโควิดที่มีการปรับเปลี่ยนอยู่เสมอ เนื่องจากได้มีการประสานข้อมูลกับทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์อยู่ตลอด ทำให้ทราบว่าโควิดสายพันธุ์ลูกผสม XBB เพิ่มขึ้น จำเป็นต้องมีการปรับแนวทางการรักษาให้สอดคล้อง แต่ไม่ได้หมายความว่า เชื้อมีความรุนแรงหรือระบาดมากขึ้นแต่อย่างใด
ส่วนเหตุผล ที่รพ.รามาธิบดี ไม่ใช้ LAAB และโมลนูพิราเวียร์ (MoInupiravir) ในการรักษาโควิด รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า จากข้อมูลพบว่า การตอบสนองต่อยาไม่ดีพอ เพราะเชื้อเปลี่ยนไป สมัยก่อนโมลนูฯ มีประสิทธิภาพดีมาก แต่ตอนนี้เชื้อเปลี่ยนไป แต่สถานการณ์ไม่ได้รุนแรงอะไร รพ.รามาฯ ยังไม่ต้องเปิดวอร์ดโควิดอีก ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง เหมือนไข้หวัด เพียงแต่ผู้สูงอายุ กลุ่มโรคประจำตัวบางคนอาจมีอาการมากกว่าคนอื่น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับหนังสือแนวทางการรักษาโควิดของโรงพยาบาลรามาธิบดี ใจความระบุว่า เนื่องในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรากฏจำนวนผู้ป่วยโควิด ที่แอดมิทในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น และพบมีสายพันธุ์ลูกผสม XBB เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วย Long-acting antibody (LAAB) และเพื่อให้บริการผู้ป่วยมีความเหมาะสมกับสถานการณ์ จึงขอปรับแนวทางการรักษาผู้ป่วยโควิด-19