กรมควบคุมโรคคาดว่าผู้ติดเชื้อโควิด-19 จะเพิ่มสูงขึ้นหลังสงกรานต์ นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า สถานการณ์ในขณะนี้เป็นไปตามที่มีการคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้่ ว่าช่วงสงกรานต์จะพบผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการทำกิจกรรมร่วมกันและการเดินทางที่มีโอกาสสัมผัสผู้ติดเชื้อได้ และเท่าที่รับรายงานตามโรงพยาบาล มีผู้ป่วยโควิด-19 เข้ามารักษาเพิ่มขึ้น แต่อาการไม่รุนแรง และส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนมาแล้ว และบางคนก็เคยติดเชื้อมาแล้ว ทำให้มีภูมิคุ้มกันอาการโดยในสัปดาห์หน้าอาจมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมากกว่าในช่วงหลังปีใหม่ที่ผ่านมา เพราะจะเห็นผู้คนออกมาสนุกสนาน ร่วมกิจกรรมในเทศกาลสงกรานต์ ในแต่ละพื้นที่จำนวนมาก มีการใกล้ชิดผู้คนที่ไม่รู้จัก นอกจากนี้ยังมีการผ่อนคลายมาตรการ แต่มองในแง่บวก คนที่ออกมาเล่นสงกรานต์ ส่วนใหญ่เป็นเด็ก วัยรุ่น วัยทำงาน น่าจะยังมีภูมิคุ้มกันที่ดี
ข้อแนะนำหลังสงกรานต์ ให้เฝ้าระวังสังเกตอาการตัวเอง 7 วัน หลีกเลี่ยงสัมผัส หรือใกล้ชิดกับผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หากเริ่มมีอาการไข้ เจ็บคอ มีน้ำมูก ให้ตรวจ ATK หากผลเป็นบวก ก็ให้ปรึกษาแพทย์รักษาตามสิทธิ์ ไม่ตรวจ ATK ในขณะที่ยังไม่มีอาการ
ส่วนในกรณีที่มีพบเชื้อโควิดสายพันธุ์ลูกผสม XBB.1.16 เพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะที่อินเดีย ซึ่งพบว่ามีความสามารถในการแพร่สูงกว่าสายพันธ์ุอื่น ดื้อต่อภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติและภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีน แต่การมีภูมิคุ้มกันยังป้องกันการป่วยหนักได้อย่างแน่นอน จึงรณรงค์ให้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง
ด้าน ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เผยว่า จากฐานข้อมูลรหัสพันธุกรรมโควิดโลก หรือ GISAID ล่าสุด มีการรายงานการระบาดของโอไมครอน สายพันธุ์ลูกผสม XBB.1.16 ในประเทศไทย พบผู้ติดเชื้อแล้ว 6 ราย และยังพบ XBB.1.16.1 ในไทยอีก 1 ราย เป็นสายพันธุ์ที่แตกแขนงจาก XBB.1.16 ที่เริ่มพบการแพร่ระบาดในอินเดียแล้ว
ทั่วโลกรายงานผู้ติดเชื้อโควิดลูกผสม XBB.1.16 จำนวน 887 คน พบที่อินเดียมากที่สุด 539 คน XBB.1.16 มีการกลายพันธุ์ บริเวณหนามของไวรัสโควิด-19 เพิ่มเติม 3 ตำแหน่งคือ E180V K478R และ S486P ทำให้สามารถเกาะติด และติดเชื้อในเซลล์ของมนุษย์ ได้ดีกว่าทุกสายพันธุ์ที่ระบาดทั่วโลก
การกลายพันธ์ในตำแหน่ง K478R อาจทำให้สายพันธุ์นี้ เอาชนะแอนติบอดีจากการติดเชื้อตามธรรมชาติ และจากการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น และในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา พบว่า XBB.1.16 มีความได้เปรียบในการเติบโตเหนือกว่า XBB.1.5 ถึงร้อยละ 159
ขณะที่พบว่า อาการของโควิด XBB.1.16 จะแตกต่างจากโควิดก่อนหน้านี้ โดยจะมีอาการ ไข้สูง ไอ และเยื่อบุตาอักเสบตาแดง ลักษณะคล้ายตาแดง มีผื่นคัน และส่วนใหญ่อาการนี้จะพบในเด็ก
...
#โควิด19
#โอไมครอน
#สงกรานต์66
#กรมควบคุมโรค
#กระทรวงสาธารณสุข