จี7 หารือปรับโครงสร้างหนี้ศรีลังกา ขณะที่กลุ่มจี20 มีความขัดแย้งกรณียูเครนไม่สามารถลงมติมาตรการเศรษฐกิจ

14 เมษายน 2566, 15:55น.


          สำนักข่าวเกียวโด รายงานอ้างคำเปิดเผยของนายชุนอิจิ ซูซูกิ รัฐมนตรีคลังญี่ปุ่น ว่าญี่ปุ่น ฝรั่งเศสและอินเดีย ในฐานะเจ้าหนี้รายใหญ่ เริ่มต้นขั้นตอนการเจรจาเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้สำหรับศรีลังกา ลูกหนี้ หลังประสบวิกฤตเศรษฐกิจรุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปี โดยคณะผู้แทนจากทั้ง 3 ประเทศแถลงเรื่องนี้ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.สหรัฐฯในวันนี้ (14 เม.ย.66) นอกรอบการประชุมของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ และธนาคารโลก





          ทั้งนี้ ญี่ปุ่น เป็นประธานของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศหรือ จี7 ในปีนี้ นัดหมายให้เจ้าหนี้รายใหญ่อีก 2 ประเทศคือ อินเดียและฝรั่งเศสมาพูดคุย เพื่อช่วยให้ศรีลังกาพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจ แต่ยังไม่ชัดเจนว่าการแก้ปัญหาของศรีลังกาจะสำเร็จหรือไม่ เนื่องจากจีน เจ้าหนี้รายใหญ่สุดของศรีลังกา ยังไม่ได้เข้าร่วมเจรจา



          ในเดือนมีนาคม บอร์ดบริหารของไอเอ็มเอฟมีมติอนุมัติเงินกู้เกือบ 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้แก่ศรีลังกา เพื่อรักษาสภาพคล่องและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ โดยคาดหวังว่าจะเป็นตัวเร่งและสร้างความเชื่อมั่นให้กับองค์กรแห่งอื่น ในการสนับสนุนทางเศรษฐกิจให้กับศรีลังกา โดยคาดว่า ธนาคารโลก และธนาคารพัฒนาเอเชียหรือ เอดีบี จะอนุมัติสินเชื่องวดใหม่ให้แก่ศรีลังกา รวมราว 3,750 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่เงินกู้ของไอเอ็มเอฟมีเงื่อนไขหลายประการ ซึ่งรวมถึงการแก้ไขปัญหาหนี้ในระยะยาว และการปรับโครงสร้างหนี้





          ส่วนการประชุม 2 วันของรัฐมนตรีคลังจากกลุ่ม จี20 ซึ่งอินเดียเป็นประธานประชุมในกรุงวอชิงตัน.ดี.ซี.เช่นกัน สิ้นสุดเมื่อวานนี้ (13 เม.ย.) โดยที่ประชุมไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วม เนื่องจากมีความแตกแยกจากปัญหารัสเซียรุกรานยูเครนจนกระทั่งที่ประชุมไม่สามารถลงมติอย่างเป็นเอกฉันท์ กระทบความพยายามที่จะเพิ่มความร่วมมือในการผลักดันให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว ตลอดถึงการแก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะและวิกฤตภาคธนาคาร



          อินเดียระบุว่าที่ประชุมกลุ่มจี20 ได้พูดคุยเรื่องภาวะเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน แนวทางการสร้างเข้มแข็งให้กับระบบการเงินระหว่างประเทศและเพิ่มความร่วมมือจากหลายฝ่ายเช่น บรรดาเจ้าหนี้ เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ให้กับประเทศที่เป็นลูกหนี้



...



#จี7



#จี20



#หนี้ศรีลังกา



#วิกฤตเศรษฐกิจ



#วิกฤตยูเครน

ข่าวทั้งหมด

X