สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน ซึ่งอินโดนีเซียทำหน้าที่ประธานประจำปีนี้ (2566) ออกแถลงการณ์ประณามกองทัพเมียนมา ที่โจมตีหมู่บ้านปาซิกกี โดยเรียกร้องให้ยุติการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการใช้ความรุนแรงต่อพลเรือน ซึ่งจะเป็นหนทางเดียวในการนำไปสู่สภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเจรจาระดับชาติแบบมีส่วนร่วม เพื่อสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ กองทัพเมียนมามีปฏิบัติการโจมตีหมู่บ้านปาซิกกี ในภาคสะกาย เมื่อวันที่ 10 เมษายน ในช่วงที่รัฐบาลแห่งชาติ หรือรัฐบาลเงา กำลังจัดงานเฉลิมฉลอง โดยมีการทิ้งระเบิดใส่ศาลาประชาคมที่มีการจัดงาน และมีการใช้เฮลิคอปเตอร์ติดอาวุธยิงผู้รอดชีวิตและขัดขวางความพยายามช่วยเหลือ
โดยในช่วงเช้าวันอังคาร (11 เม.ย.) ชาวบ้านประกอบพิธีศพผู้เสียชีวิตราว 80 ศพ ขณะที่ความพยายามในการกู้ศพอีกราว 40 ศพ ต้องหยุดชะงักเนื่องจากความกังวลว่าจะมีการโจมตีซ้ำ
อาเซียน ซึ่งเป็นกลุ่มภูมิภาค 10 ประเทศสมาชิก รวมถึงเมียนมามีหลักการที่ยึดถือมายาวนานในการไม่ยุ่งเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยของสมาชิก ดำเนินความพยายามคลี่คลายความขัดแย้งด้วยการทำข้อตกลงสันติภาพ 5 ประการ แต่รัฐบาลเมียนมาไม่ได้ปฏิบัติตามข้อตกลงนี้
นายกรัฐมนตรี อันวาร์ อิบราฮิม แห่งมาเลเซีย ในระหว่างการเยือนฟิลิปปินส์เมื่อเดือนมีนาคมเรียกร้องให้อาเซียนร่วมกันแก้ไขวิกฤตในเมียนมา มีความกล้าแสดงออกมากขึ้น เพราะเหตุการณ์ในเมียนมา ไม่ใช่ปัญหาภายในประเทศ
และเมื่อวานนี้ นาย ซัมบรี อับดุล คาดีร์ รัฐมนตรีการต่างประเทศมาเลเซีย กล่าวแสดงความกังวลต่อความสูญเสียที่เกิดขึ้น และกล่าวว่ามาเลเซียคัดค้านการใช้ความรุนแรงในรูปแบบใดๆ ก็ตามที่เกิดขึ้นในขณะนี้ในเมียนมา และนั่นคือจุดยืนของอาเซียนโดยรวม
...
#เมียนมา
#อาเซียน
#มาเลเซีย