นายชีวาน แทนดอน นักเศรษฐศาสตร์กลุ่มตลาดเกิดใหม่ในเอเชียจากบริษัทแคปิตอล อีโคโนมิกส์ (Capital Economics)เปิดเผยผลสำรวจในวันนี้ แสดงให้เห็นว่า การผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมของเอเชีย โดยเฉพาะญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ อ่อนแอในเดือนมีนาคม ขณะที่เศรษฐกิจจีนไม่มีการขยายตัวในเดือนที่แล้ว เป็นผลจากการสั่งซื้อจากต่างแดนลดลง แสดงว่า แนวโน้มเชิงลบของเศรษฐกิจโลกจะกระทบการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและกระทบการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมในเอเชียตลอดปีนี้
นายแทนดอน หวังว่า คณะผู้กำหนดนโยบายของรัฐบาลส่วนใหญ่ในเอเชียจะเฝ้าติดตามสถานการณ์ของเศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด รวมถึงเร่งหาทางควบคุมเงินเฟ้อ และป้องกันผลกระทบจากภาวะอ่อนแอของเศรษฐกิจโลกในช่วงไตรมาสต่อไปๆตลอดปีนี้
สำหรับค่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI)ของเกาหลีใต้ในเดือนมีนาคมลดลงมาอยู่ที่ 47.6 จาก 48.5 ในเดือนกุมภาพันธ์ นับเป็นการหดตัวเร็วที่สุดในรอบ 6 เดือน หลังการส่งออกของประเทศลดลงตามอุปสงค์ที่อ่อนแอทั่วโลก ส่วน PMI ของญี่ปุ่นในเดือนมีนาคมอยู่ที่ 49.6 เพิ่มจาก 47.7 ในเดือนกุมภาพันธ์ แต่ยังต่ำกว่า 50 หลังคำสั่งซื้อสินค้าจากต่างแดนลดเป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกัน
ผลสำรวจอีกชิ้นหนึ่ง ซึ่งเผยแพร่ในวันนี้ โดยธนาคารกลางของญี่ปุ่น แสดงให้เห็นว่าความมั่นใจของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นในเดือนมกราคมถึงมีนาคมลดต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี ระบุว่าอุปสงค์จากภายนอกที่อ่อนแอกระทบต่อบริษัทเอกชนซึ่งประสบปัญหาค่าวัตถุดิบต่างๆแพงขึ้นอยู่ก่อนแล้ว
ขณะเดียวกัน ผลสำรวจ ซึ่งจัดทำโดยไฉซินอินไซต์ กรุ๊ป และเอสแอนด์พี โกลบอล ระบุว่า ค่า PMI ซึ่งเป็นตัวชี้วัดภาคบริการของจีนในเดือนมีนาคมอยู่ที่ 50.0 ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของตลาดคือ 51.7 และต่ำกว่า 51.6 ในเดือนกุมภาพันธ์ สำหรับตัวเลข PMI สูงกว่า 50 บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจมีการเติบโต ส่วนตัวเลขต่ำกว่า 50 แสดงว่าเศรษฐกิจหดตัว
ด้านนายหวัง เจ๋อ นักวิเคราะห์อาวุโสจากบริษัทไฉซิน อินไซต์ กรุ๊ป ระบุว่ารากฐานสำหรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของจีนยังไม่มั่นคงเท่าที่ควร เมื่อมองถึงแนวโน้มข้างหน้า การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนจะต้องพึ่งพามาตรการกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศ โดยเฉพาะการบริโภคของภาคครัวเรือน
ส่วนอินเดีย มีแนวโน้มทางเศรษฐกิจที่สดใสกว่า เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในเอเชีย โดยภาคอุตสาหกรรมในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว มีการผลิตทางอุตสาหกรรมและคำสั่งซื้อใหม่เติบโตอย่างรวดเร็ว ตัวเลข PMI ของอินเดียในเดือนมีนาคมอยู่ที่ 56.4 ในเดือนมีนาคม จาก 55.3 ในเดือนกุมภาพันธ์ บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจอินเดียมีการเติบโตในอัตราที่ดีกว่าประเทศอื่นๆเอเชีย ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจอ่อนแอทั่วโลกในปัจจุบัน
#ตลาดเอเชีย
#การผลิตอุตสาหกรรมเดือนมีนาคม