แพทย์สถาบันประสาทวิทยา อธิบาย 'ฮีทสโตรก' โรคที่มากับหน้าร้อน รู้และจะช่วยได้อย่างไร

31 มีนาคม 2566, 15:25น.


          ความแตกต่างระหว่างโรคฮีทสโตรก  หรือ โรคลมแดด กับการเป็นลมธรรมดา แนวทางและวิธีป้องกันจะทำอย่างไร ในช่วงหน้าร้อนตอนนี้ นพ.ธนบูรณ์ วรกิจธำรงชัย นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ อายุรกรรมประสาท เชี่ยวชาญด้านโรคหลอดเลือดสมองและการรักษาโรคหลอดเลือดสมองอุดตันด้วยสายสวนหลอดเลือดสมอง สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ อธิบายรายละเอียดว่า



-อาการของ ฮีทสโตรก  หรือ โรคลมแดด เป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตได้ โรคนี้ส่วนใหญ่จะเกิดกับผู้ที่อยู่กลางแดดเป็นเวลานาน ทำงานหรือการทำกิจกรรมกลางแจ้ง มีอาการขาดน้ำ และมีอุณหภูมิร่างกายสูงมาก 40 องศาเซลเซียส หรือมากกว่า 40 องศาเซลเซียส ร่างกายปรับการระบายความร้อนไม่ดีเมื่ออุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นจะทำให้ระบบในร่างกายทำงานผิดปกติไป มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง สับสน ชักและหมดสติ ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาล



-อาการของโรคลมธรรมดา อาจจะแยกลำบาก เช่น คนที่อยู่กลางแดด หรืออยู่ในร่ม แล้วมีอาการเป็นลม ขอให้ตรวจสอบเรื่องอุณหภูมิในร่างกาย หากไม่สูงมาก ก็เป็นลมธรรมดา และพิจารณาองค์ประกอบอื่นเพิ่มเติม เช่น ดื่มน้ำน้อย พักผ่อนน้อย หรือมีโรคประจำตัว



           ส่วนแนวทางการให้ความช่วยเหลือคนที่เป็นโรคฮีทสโตรก นพ.ธนบูรณ์ อธิบายว่า เมื่อสัมผัสตัวผู้ป่วยและพบว่ามีความร้อนสูง ให้รีบระบายความร้อน ด้วยการคลายเสื้อผ้า อยู่ในสถานที่โล่ง อากาศถ่ายเท อย่าให้มีคนมามุง นำผ้าชุบน้ำเช็ดตัว จะเป็นน้ำเย็น หรือน้ำธรรมดา ก็ได้ ชุบน้ำซับบริเวณคอ รักแร้ ขาหนีบ ระบายความร้อนให้เร็วที่สุด และรีบประสานนำส่งโรงพยาบาล หากคนไข้ยังมีสติ สามารถให้จิบน้ำได้ หากคนไข้หมดสติ ไม่แนะนำให้ดื่มน้ำ



           กรมควบคุมโรค ระบุว่า การปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพื่อลดอุณหภูมิให้ต่ำลงเร็วที่สุด



-นำผู้ป่วยเข้ามาในที่ร่ม



-นอนราบ ยกขาสูง คลายเสื้อผ้า



-ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นและศีรษะ ใช้พัดลมเป่าระบายความร้อน



-หากอาการไม่ดีขึ้น รีบส่งโรงพยาบาล



          กลุ่มเสี่ยงโรคฮีทสโตก



1. ผู้ที่ต้องทำงานหรือทำกิจกรรมอยู่กลางแจ้ง



2. ผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัว, เด็กเล็ก ทนทานอากาศร้อนไม่ดี  กลุ่มนี้จะมีภาวะเสี่ยงมากกว่ากลุ่มวัยรุ่นปกติ



3. คนไข้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวซึ่งต้องกินยาเป็นประจำ เช่น โรคพาร์กินสัน โรคความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยเรื้อรัง (เบาหวาน ความดัน) คนที่เป็นโรคหัวใจ หัวใจตีบ หลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต  กลุ่มคนที่มีโรคอ้วน



4.ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  หลอดเลือดขยายตัว เมื่อเกิดความร้อนในร่างกาย หัวใจทำงานผิดปกติ มาเจอความร้อน การระบายความร้อนไม่ดี ทำให้เกิดการเสียชีวิตได้



5.ผู้ที่พักผ่อนน้อย



          ส่วนการดูแลป้องกัน นพ.ธนบูรณ์ แนะนำให้หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง เช่น ช่วงเที่ยง-บ่าย ตั้งแต่ 10.00-16.00 หากจำเป็นต้องทำงาน หรือ ทำกิจกรรมในช่วงที่อากาศร้อนมาก ขอให้ดื่มน้ำมากกว่าปกติ สวมใส่เสื้อผ้าโปร่ง สบาย ระบายความร้อน สวมหมวกปีกกว้าง



ส่วนวิธีหรือแนวทางในการป้องกัน



1.ควรตรวจสอบอุณหภูมิภายนอก ถ้าเกิน 34 องศา ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง และถ้าเกิน 37 องศา งดกิจกรรมกลางแจ้ง



2.สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายความร้อน และไม่คับเกินไป



3.ถ้ามีอาการเพลีย หรือกระหายน้ำ อ่อนแรง เป็นลม ให้รีบหลบเข้าที่ร่ม ปรับอุณหภูมิให้เย็น ดื่มน้ำเย็น หรือใช้ผ้าชุบน้ำถูตัว ซอกรักแร้ ขาหนีบ



4.ดื่มน้ำบ่อยๆ



5.ช่วงอากาศร้อน หัวใจและหลอดเลือดจะทำงานมากขึ้น คนที่มีโรคประจำตัวถ้ารู้สึกผิดปกติให้รีบปรึกษาแพทย์



6.ช่วยกันดูแลผู้สูงอายุ คนที่มีโรคประจำตัว เป็นพิเศษ



7.หมั่นสังเกตสีปัสสาวะ ถ้ามีสีเข้ม อาจจะเกิดจากภาวะขาดน้ำ



          สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระบุว่า สำหรับ “ผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ “สิทธิบัตรทอง 30 บาท” หากมีภาวะหายใจที่ผิดปกติ เกิดอาการชักและหมดสติ ถือเป็นภาวะฉุกเฉินวิกฤต (UCEP) ให้รีบโทรสายด่วน 1669 เพื่อเรียกรถพยาบาลฉุกเฉินนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว หรือให้รีบนำส่งรับการรักษาในโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ จนกว่าอาการจะพ้นวิกฤตและสามารถเคลื่อนย้ายส่งต่อไปยังโรงพยาบาลตามสิทธิได้ แต่ทั้งนี้จะต้องไม่เกินระยะเวลา 72 ชั่วโมง



         6 อาการที่เข้าข่ายภาวะเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต



1. หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ



2. หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรงหายใจติดขัดมีเสียงดัง



3. ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น



4. เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง



5. แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีกพูดไม่ชัดแบบปัจจุบันทันด่วนหรือชักต่อเนื่องไม่หยุด



6. อาการอื่นที่มีผลต่อการหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิต และระบบสมองที่เป็นอันตรายต่อชีวิต หากพบอาการที่เข้าข่าย



ขั้นตอนการใช้สิทธิรักษาพยาบาล “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต”



1. ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตเข้าโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด



2. โรงพยาบาลประเมินอาการและคัดแยกระดับความฉุกเฉิน



3. ศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิ ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนของข้อมูล



4. กรณีเข้าเกณฑ์ฉุกเฉินวิกฤต จะได้รับความคุ้มครองตามสิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต (UCEP) ทันทีแต่ไม่เกิน 72 ชั่วโมง



5. กรณีไม่เข้าเกณฑ์เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตขอให้รีบประสานโรงพยาบาลตามสิทธิ ในกรณีที่มีความประสงค์ต้องรักษาต่อ ผู้ป่วยต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง



          กรณีใช้สิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต สอบถามข้อมูลได้ที่ “ศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต” สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (ศคส.สพฉ.) โทร. 02-872-1669 หรือ ติดต่อได้ตลอด 24 ชั่วโมง



สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่



1.สายด่วน สปสช. 1330



2.ช่องทางออนไลน์



- ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6



-Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand



-ไลน์ Traffy Fondue เป็นเพื่อนใน LINE ค้นหาไอดี @traffyfondue หรือคลิกที่ลิงค์ https://lin.ee/nwxfnHw



 



#โรคฮีทสโตรก 



CR:ขอบคุณข้อมูล-ภาพ กรมควบคุมโรค,กรมการแพทย์,สถาบันประสาทวิทยา Neurological Institute of Thailand,สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข 

ข่าวทั้งหมด

X