*นายกฯแถลงผลงานครบ 6 เดือน/แจกร่างรธน.ฉบับแรกให้สปช./ช่วยคนพ้นโทษมีงานทำ

17 เมษายน 2558, 07:20น.


*ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้ 07.30น.



+++ วันนี้ ต้องติดตามตั้งแต่ เวลา09.00 น. ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดฉากแถลงผลงานรัฐบาลในรอบ 6 เดือน  เจ้าหน้าที่จากสำนักโฆษกฯ สำนักนายกรัฐมนตรี ได้จัดเตรียมสถานที่แถลงผลงานรัฐบาลครบรอบ 6 เดือนจอมอนิเตอร์ขนาดใหญ่ 2 จอ พร้อมตั้งโพเดียมสำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ บนเวทีที่ตึกสันติไมตรีหลังนอก รวมทั้งมีที่นั่งสำหรับรองนายกรัฐมนตรีทั้ง 5 คนบนเวทีเพื่อร่วมแถลงผลงาน รวมทั้งเตรียมระบบภาพและเสียงเพื่อการถ่ายทอดสดผ่านสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (เอ็นบีที) ตั้งแต่เวลา 09.00 น. จนกว่าจะแถลงผลงานเสร็จสิ้น พร้อมทั้งจัดเตรียมพื้นที่รองรับคณะรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง หัวหน้าหน่วยราชการ และสื่อมวลชน อีกทั้งยังมีการจัดเตรียมเครื่องแปลภาษา ล่ามภาษาอังกฤษ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่สื่อมวลชนต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่จากกระทรวงต่างๆ เดินทางมาจัดเตรียมนิทรรศการแสดงผลงานในรอบ 6 เดือนของกระทรวงต่างๆ ในตึกสันติไมตรีหลังใน และบริเวณโถงกลางของตึกสันติไมตรี



ส่วน พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว. ต่างประเทศ และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ติดภารกิจที่ต่างประเทศ อาจจะมอบหมายผู้อื่นมาแถลงแทน



+++นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านสังคม กล่าวถึงการแถลงผลงานของรัฐบาลในรอบ 6 เดือน วันที่ 17 เมษายนนี้ว่า หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. แถลงเรียบร้อยแล้ว จะให้รองนายกฯร่วมแถลงด้วยในบางส่วน บางเรื่อง แต่เนื้อหาหลักๆ ของรองนายกฯจะออกอากาศทางโทรทัศน์ในปลายเดือนเมษายนนี้ ในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมางานด้านสังคมเป็นไปตามที่มีการวางแผนเอาไว้ รัฐบาลมีผลงานที่ดี ทั้งการลดความเหลื่อมล้ำ ค้ำจุนกัน สร้างสรรค์สังคม ประกอบด้วยนโยบายการดูแลผู้ที่ด้อยโอกาสทางสังคม นโยบายในการให้สิทธิกับคนยากจน ให้เงินช่วยเหลือ 400 บาทแก่ผู้ปกครองเด็กแรกเกิดที่ยากจน เป็นผลงานที่ชัดเจน รวมถึงนโยบายด้านการค้ามนุษย์ ซึ่งถือเป็นผลงานเด่นของรัฐบาล



++++การยกร่างรธน.วันนี้ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เตรียมแจกร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่ได้พิจารณาเสร็จแล้วเป็นร่างแรกให้กับสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในวันนี้ เพื่อให้สมาชิกได้ศึกษาก่อนอภิปราย  ตั้งแต่ 12.00 น. สมาชิก สปช.สามารถรับเอกสารร่างรัฐธรรมนูญได้ด้วยตัวเอง ส่วนอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญนั้น เริ่มต้น กมธ.ยกร่างฯจะได้เวลาชี้แจงภาพรวม 2 ชั่วโมง เปิดอภิปรายโดยนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ เพื่อให้เห็นภาพรวมของร่างรัฐธรรมนูญทั้งหมด จากนั้นผู้รับผิดชอบตามหมวดต่างๆ จะชี้แจง โดยไล่ในภาพรวมด้วยการแบ่งเป็นกลุ่ม เช่น ระบบการเมือง มีนายสุจิต บุญบงการ รับผิดชอบ, สิทธิเสรีภาพ มีนายปกรณ์ ปรียากร รับผิดชอบ, เรื่องศาล กระบวนการยุติธรรม มีนายบรรเจิด สิงคะเนติ รับผิดชอบ, การปฏิรูปต่างๆ มี นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ รับผิดชอบ และเรื่องการปรองดองเป็นหน้าที่ของนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ชี้แจง



+++ส่วนจะทำประชามติหรือไม่  พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารเรื่องรัฐธรรมนูญมากขึ้น แต่เรื่องนี้ต้องระมัดระวังและมองอย่างรอบ ยกตัวอย่างรัฐบาลที่ผ่านมาเคยมีการสอบถามว่า จะมีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง หรือจะเลือกตั้งก่อนปฏิรูป และส่งผลให้เห็นชัดว่า มีคนที่เห็นต่างออกมาชุมนุมจนเกิดลุกลามบานปลาย ทำให้ คสช.ต้องเข้ามา



+++นายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีสั่งการให้กระทรวงการต่างประเทศเชิญนักกฎหมายและผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาหารือแลกเปลี่ยนความเห็นกับ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญของไทยว่า กระทรวงการต่างประเทศได้ประสานไปยังสถานเอกอัครราชทูตที่เกี่ยวข้อง อาทิ สถานเอกอัครราชทูตไทยในเยอรมนีและฝรั่งเศส ให้ทาบทามเชิญนักกฎหมายและผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐธรรมนูญเดินทางมาเยือนไทย เพื่อร่วมหารือกับ กมธ.ยกร่างฯตามที่นายกรัฐมนตรีสั่งการต่อไป



++++ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศคำสั่ง คสช.ที่ 4 /2558 เรื่อง การดำเนินการเพื่อประโยชน์แก่การจัดทำรัฐธรรมนูญและการปฏิรูป โดยตั้งคณะทำงานทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานและองค์กรต่างๆ เช่น กระทรวงการต่างประเทศ สถาบันอุดมศึกษาของรัฐ สถาบันนางถวิลวดี บุรีกุล กมธ.ยกร่างฯ ในฐานะประธานอนุ กมธ.การมีส่วนร่วมและรับฟังความเห็นประชาชนกล่าวว่า ขณะนี้ อนุ กมธ.ได้ดำเนินการจัดทำร่างแบบสอบถามความเห็นของประชาชนเสร็จเรียบร้อยแล้ว มีด้วยกันประมาณ 30 คำถาม เนื้อหาสาระส่วนใหญ่ครอบคลุมร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 4 ภาค โดยรูปแบบของคำถามมีทั้งปลายเปิดและปลายปิด ทำให้ประชาชนเข้าใจง่าย ประเด็นจะเกี่ยวข้องกับประชาชนเป็นหลัก รวมทั้งเป็นประเด็นที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์ อาทิ ที่มาของ ส.ส. ที่มาของ ส.ว. ระบบการเลือกตั้ง สิทธิเสรีภาพของพลเมือง บทบาทศาลยุติธรรม เป็นต้น



+++การสอบถามความเห็นของประชาชนครั้งนี้จะมีเป้าหมายด้วยกัน 77,000 คน จะสุ่มสำรวจจากประชาชนทั้ง 77 จังหวัด จังหวัดละ 1,000 คน โดยกลุ่มเป้าหมายจะมีอายุ 18 ขึ้นไป ทั้งนี้ เชื่อว่าการจัดทำแบบสอบถามครั้งนี้นอกจากจะทำให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญแล้ว จะช่วยให้ประชาชนได้มีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วย คาดว่าน่าจะเริ่มทำการสำรวจได้หลังช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้



+++นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงกรณีการประชุม สปช.เพื่ออภิปรายร่างรัฐธรรมนูญ ระหว่างวันที่ 20-26 เมษายนนี้ ว่าในฐานะประธาน สปช.ยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่มีการเรียกตัวแทน กมธ.ปฏิรูปแต่ละคณะมาหารือ เพราะต้องรอเห็นร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 17 เมษายนก่อน จากนั้น กมธ.ปฏิรูปแต่ละคณะจะส่งประเด็นที่ต้องการอภิปรายมาให้ แต่ระหว่างวันที่ 17-19 เมษายนนั้น เป็นไปได้ว่าอาจจะมีการเรียกประชุมของ กมธ.ปฏิรูปแต่ละคณะ เพื่อเรียบเรียงประเด็นที่จะอภิปรายต่อที่ประชุม  สำหรับเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญที่จะถูกอภิปรายมากคงไม่ต่างจากที่คาดการณ์กัน คือเรื่องที่มา นายกรัฐมนตรี ที่มา ส.ว. และระบบเลือกตั้ง ส่วนประเด็นเหล่านี้จะนำไปสู่การคว่ำร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ยังตอบไม่ได้ ต้องรอดูหลังจากการอภิปรายในวันที่ 26 เมษายนไปแล้ว ไม่สามารถเดาใจความเห็นของ สมาชิก สปช.ได้ เพราะทุกคนมีวิจารณญาณของตัวเอง



++++นอกจากนั้น ได้ลงนามในคำสั่ง เรื่องแนวทางการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญของสมาชิก สปช. โดยมีสาระสำคัญคือการอภิปรายจะมีขึ้นตั้งแต่วันที่ 20-26 เมษายน ตั้งแต่เวลา 09.00-21.00 น. ยกเว้นในวันที่ 23 เมษายน ที่จะเริ่มอภิปรายเวลา 14.00-21.00 น. สำหรับการแบ่งเวลานั้น กมธ.ยกร่างฯจะได้เวลาทั้งสิ้น 15 ชั่วโมง โดยในวันแรกของการอภิปรายจะได้เวลาชี้แจงในภาพรวมจำนวน 2 ชั่วโมง และเวลาชี้แจงอีก 1 ชั่วโมง ขณะที่ลำดับการอภิปรายของ สปช.แบ่งเป็นในส่วนของประธาน กมธ.ปฏิรูป ทั้ง 18 คณะ คณะละ 30 นาที รวมเป็น 9 ชั่วโมง และเวลาที่เหลืออีก 55 ชั่วโมง จะจัดสรรให้สมาชิก สปช.ที่แสดงเจตจำนงอภิปราย เบื้องต้นจะมี สปช.ที่ได้รับสิทธิ 208 คน ไม่นับสมาชิกที่ดำรงตำแหน่งประธาน สปช., รองประธาน สปช. และ กมธ.ยกร่างฯ ดังนั้น สปช.จะได้รับเวลาอภิปรายเบื้องต้นคนละ 15.8 นาที แต่หากมีผู้อภิปรายน้อยกว่าจำนวนดังกล่าวจะได้รับเวลาอภิปรายมากขึ้น ขณะที่ลำดับการอภิปรายจะเรียงลำดับไปตามบท ภาค และหมวดของร่างรัฐธรรมนูญเป็นหลัก



+++นายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ ประธานสภาพัฒนาการเมือง (สพม.) กล่าวว่า สพม.ได้สำรวจความคิดเห็นประชาชน โดยส่งแบบสอบถามผ่านทางเครือข่าย 55 จังหวัด มีประชาชนซึ่งเป็นกลุ่มตัวอย่างตอบแบบสอบถาม 1,478 คน พบว่ากลุ่มตัวอย่างร้อยละ 70 เสนอให้เลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรง ร้อยละ 70.5 เสนอให้นายกฯมีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปีต่อสมัย ไม่เกิน 2 วาระติดต่อกัน และกลับมาเป็นไม่ได้อีก ส่วนที่มาของ ส.ส.ควรมีทั้งแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อแบบเดิม โดยการเลือกตั้ง ส.ส.ควรเป็นแบบแบ่งเขต 1 คน ส.ว.ควรมาจากการเลือกตั้งจากประชาชนทั้งหมด ขณะที่ระบบการเมืองควรมีลักษณะเป็นระบบรัฐสภาเดิม



+++นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง เปิดเผยว่า หากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กำหนดให้จัดทำประชามติ คงต้องใช้เวลา 3 เดือน เมื่อทำประชามติเสร็จแล้วต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ จากนั้น กกต.จะเสนอร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. กระบวนการดังกล่าวอาจจะใช้เวลา 2 เดือน เพราะฉะนั้นการจัดการเลือกตั้ง ส.ส.น่าจะจัดได้ประมาณปลายเดือนเมษายน 2559 หลังจากนั้นจะเป็นการเลือกตั้ง ส.ว. เนื่องจากการจัดการเลือกตั้ง ส.ว.จะมีความซับซ้อนกว่า ส.ส. จะจัดพร้อมกันไม่ได้ ต้องทิ้งระยะห่างประมาณ 2-3 เดือน ส่วนในวันนี้ จะมีประชุม กกต.ด้านบริหารงานการเลือกตั้งเกี่ยวกับระบบการเลือกตั้ง เพื่อซักซ้อมทำความเข้าใจการลงคะแนนและเตรียมความพร้อมสำหรับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น ทั้งนี้ ภายหลังการประชุมอาจจะมีการจำลองการเลือกตั้งเสมือนจริงและสาธิตการลงคะแนนเพื่อให้ประชาชนทำความเข้าใจ



+++ต้องจับตาดูท่าทีสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เตรียมแถลงจุดยืนและท่าทีล่าสุด คัดค้านการควบรวมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ตามที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเสนอแนะมา



+++วันนี้เริ่มแล้ว สงกรานต์มอญพระประแดง เริ่มตั้งแต่วันนี้-19 เม.ย. 2558 ณ บริเวณที่ว่าการอำเภอพระประแดง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ เป็นไปด้วยความเรียบร้อยหรือไม่ต้องติดตาม



+++การติดตามดูแลผู้ต้องขังที่เพิ่งได้รับการปล่อยตัวกว่า 38,000 คน เพื่อไม่ให้กระทำผิดซ้ำอีก นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้สั่งการและประสานงานมายัง 3 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่ออดีตผู้ต้องขังกลับไปอยู่ในพื้นที่ภูมิลำเนาเดิมแล้ว อยากจะให้ช่วยเหลือเรื่องใดก็อาจจะไปพบกับทางผู้บริหารในระดับตำบล หมู่บ้าน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) นายอำเภอ หรือแม้แต่ศูนย์ดำรงธรรม ที่จะให้ความช่วยเหลือได้ในทางที่ต้องการ



+++นายนคร ศิลปอาชา ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีกระทรวงยุติธรรมมีแนวคิดจะช่วยเหลือนักโทษที่พ้นโทษ 3.8 หมื่นคน โดยอาจจะให้รัฐให้เงินเดือนสมทบอีกร้อยละ 30  เพื่อให้เกิดการจ้างงานและไม่หวนกลับไปทำความผิดเป็นแนวคิดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเท่านั้น สำหรับกระทรวงแรงงานยินดีสนับสนุนด้านการฝึกอาชีพและจัดหางานให้ เบื้องต้นมีบริษัทเอกชนบางแห่งแสดงความจำนงเข้ามาว่ามีความประสงค์จะจ้างงานในตำแหน่ง เช่น งานช่าง พนักงานรักษาความปลอดภัย เป็นต้น กกจ.อยู่ระหว่างพิจารณาตำแหน่งงานให้เหมาะสมกับทักษะความสามารถของผู้ถูกปล่อยตัว รวมทั้งจะแนะแนวเกี่ยวกับการประกอบอาชีพด้วย

ข่าวทั้งหมด

X