สำนักงานตำรวจญี่ปุ่น รายงานว่า ในปี 2565 สถิติอุบัติเหตุจราจรรุนแรง ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต ที่เกิดจากผู้ขับขี่อายุ 75 ปีขึ้นไป มีจำนวนเพิ่มขึ้น 33 รายจากในปี 2564 เป็น 379 ราย เพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นปีที่ 2 แล้ว
โดยอุบัติเหตุจราจรที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต และมีความเกี่ยวข้องกับผู้ขับขี่สูงอายุในปี 2565 มีอัตราร้อยละ 16.7 ของอุบัติเหตุทั้งหมด และเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 15.1 ในปี 2564 เป็นสถิติสูงที่สุดนับตั้งแต่มีการบันทึกข้อมูลในปี 2529
เมื่อวิเคราะห์จากจำนวนสถิติอุบัติเหตุ 379 รายพบว่า ร้อยละ 30.1 เกิดจากความผิดพลาดในการขับขี่ เช่น การบังคับพวงมาลัย หรือการเหยียบคันเร่งแทนเบรก
จำนวนอุบัติเหตุจราจรที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตต่อผู้สูงอายุที่มีใบขับขี่ 100,000 คน อยู่ที่ 5.7 ซึ่งสูงกว่าสถิติ 2.5 ในกลุ่มผู้ขับขี่ 100,000 คนที่มีอายุต่ำกว่า 75 ปี
ตำรวจคาดว่า 1 ในสาเหตุที่ทำให้มีอุบัติเหตุเพิ่มสูงขึ้นก็คือการที่ประชากรอายุ 75 ปีขึ้นไปที่มีใบขับขี่มีจำนวนมากขึ้น นอกจากนี้ชาวญี่ปุ่นที่เกิดระหว่างปี 2490-2492 หรือในยุคเบบี้บูมเมอร์ (Baby Boomer) มีอายุถึง 75 ปีแล้ว มีจำนวนราว 6,670,000 คนในปี 2565
ในกลุ่มผู้เสียชีวิตทั้งหมด 392 คน มีอยู่ 235 คนที่คือคนขับเอง นอกจากนี้ยังมีผู้โดยสาร 41 คน ผู้เสียชีวิตที่อายุน้อยที่สุดคือ 4 ขวบ มากที่สุดคือ 97 ปี
ญี่ปุ่นมีการแก้ไขกฎหมายจราจรทางถนนหลายครั้ง เพื่อลดอุบัติเหตุที่เกิดจากผู้สูงอายุ ภายใต้กฎหมายฉบับแก้ไขซึ่งมีผลบังคับใช้ในเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว (2565) กำหนดให้ผู้ขับขี่ที่มีอายุตั้งแต่ 75 ปีขึ้นไปและมีประวัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับการจราจร ต้องเข้ารับการทดสอบทักษะการขับขี่เมื่อต่ออายุใบอนุญาต จนถึงปลายเดือนธันวาคมปีที่แล้วมีผู้เข้ารับการทดสอบทักษะทั้งหมด 77,083 คน โดยผ่านการทดสอบประมาณร้อยละ 90 ซึ่งตำรวจญี่ปุ่นระบุว่าจะมีการวิเคราะห์อุบัติเหตุที่เกิดจากผู้ผ่านการทดสอบกลุ่มนี้ และพิจารณามาตรการป้องกันที่จำเป็นต่อไป
...
#ผู้สูงอายุญี่ปุ่น
#อุบัติเหตุจราจร