G7 กดดัน IMF ช่วยยูเครนเพิ่มเติมภายในเดือนมีนาคมนี้

24 กุมภาพันธ์ 2566, 12:31น.


          กลุ่มจี 7 (Group of Seven) ซึ่งประกอบไปด้วย ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เยอรมนี ญี่ปุ่น อิตาลี และแคนาดา ออกแถลงการณ์ในวันครบรอบ 1 ปีที่รัสเซียรุกรานยูเครน กดดันกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมแก่ยูเครนอย่างเร่งด่วน



          ปัจจุบันประธานของกลุ่มจี 7 คือญี่ปุ่น ระบุในแถลงการณ์ว่า เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ปีที่แล้ว รัสเซียเปิดฉากทำสงครามรุกรานยูเครนอย่างผิดกฎหมาย ไม่มีความยุติธรรม และโดยที่ไม่มีการยั่วยุ เป็นการโจมตีที่ขัดต่อหลักนิติธรรมและหลักการของกฎบัตรสหประชาชาติ จึงเรียกร้องให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ มอบความช่วยเหลืออย่างเหมาะสมแก่ยูเครนภายในสิ้นเดือนมีนาคม 2566



          ก่อนหน้านี้ นายบรูโน เลอ แมร์ รัฐมนตรีคลังของฝรั่งเศสแสดงความเห็นว่าไอเอ็มเอฟควรจัดสรรเงินช่วยเหลือยูเครน มูลค่า 15,000 ล้านดอลลาร์ในกรอบเวลา 4 ปี



          ส่วนนายคริสเตียน ลินด์เนอร์ รัฐมนตรีคลังเยอรมนี กล่าวว่า ต้องมีความช่วยเหลือยูเครนเพิ่มเติมทั้งในด้านการทหาร และการทำงานของรัฐบาล



          ขณะที่นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ กล่าวว่า มาตรการคว่ำบาตรบั่นทอนขีดความสามารถของรัสเซียในการทำสงคราม ทำให้ขาดดุลงบประมาณ นักวิทยาศาสตร์และผู้ประกอบการชาวรัสเซีย อพยพออกจากประเทศ ขณะที่ นักลงทุนต่างชาติ ถอนการลงทุนออกจากรัสเซีย และจี7 จะดำเนินการเพิ่มเติมตามความจำเป็น



          โดยในวันนี้ (24 ก.พ.66) และพรุ่งนี้ (25 ก.พ.) รัฐมนตรีคลังของกลุ่มจี20 (Group of Twenty) และประธานธนาคารกลางของประเทศสมาชิก จะมีการประชุมที่เบงกาลูรู อินเดีย โดยมีวาระการประชุมที่สำคัญคือผลกระทบทางเศรษฐกิจ และการบรรเทาหนี้ประเทศยากจน ซึ่งไอเอ็มเอฟ ระบุว่า ประมาณร้อยละ 15 ของประเทศที่มีรายได้ต่ำอยู่ในภาวะ "ทุกข์ยากด้านหนี้สิน" ประชากร 349 ล้านคนใน 79 ประเทศเผชิญกับความไม่มั่นคงทางอาหารเฉียบพลัน



          จากนั้นในวันที่ 1 และ 2 มีนาคม 2566 จะเป็นการประชุมรัฐมนตรีการต่างประเทศของกลุ่มจี 20 ที่กรุงนิวเดลี ซึ่งอาจมีความตึงเครียดเกิดขึ้นเนื่องจากนายเซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีการต่างประเทศรัสเซีย และนายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีการต่างประเทศสหรัฐ ต่างตอบรับเข้าร่วมการประชุม



....



#จี7



#ยูเครน

ข่าวทั้งหมด

X