คณะทำงานยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่าน หรือ TJWG (Transitional Justice Working Group : TJWG) กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน หรือเอ็นจีโอในเกาหลีใต้ เตือนว่า โครงการนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือทำให้ประชาชนหลายแสนคนอาจสัมผัสสารกัมมันตรังสีที่ปนเปื้อนน้ำดื่ม และยังคุกคามต่อเพื่อนบ้านที่ได้แก่จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น จึงเสนอให้เกาหลีใต้จัดการทดสอบการสัมผัสรังสีสำหรับผู้แปรพักตร์ที่เคยพักอาศัยอยู่ใกล้ปุงกเยรี ที่ตั้งของโครงการนิวเคลียร์หลักของเกาหลีเหนือ และคาดว่ามีผู้อยู่อาศัยมากถึง 540,000 คนที่ตกอยู่ในความเสี่ยง ทั้งเรียกร้องให้มีการตรวจสอบการปนเปื้อนสินค้า พืชผักต่างๆ ที่ส่งออกจากเกาหลีเหนือด้วย
กลุ่ม TJWG ก่อตั้งขึ้นที่กรุงโซลในปี 2557 ประกอบไปด้วยนักเคลื่อนไหวและนักวิจัยจากเกาหลีใต้ เกาหลีเหนือ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และแคนาดา มีการวิเคราะห์ชุดข้อมูลทั้งที่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะและข้อมูลข่าวกรองแบบโอเพ่นซอร์ส ซึ่งผู้เขียนรายงาน ระบุว่า เกาหลีเหนือทดสอบระเบิดนิวเคลียร์ครั้งล่าสุดในปี 2560 ที่ปุงกเยรี ซึ่งเป็นการทดสอบที่ทรงพลังที่สุดจากการทดสอบ 6 ครั้ง กระทรวงการรวมชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานบริหารในเกาหลีใต้ที่ส่งเสริมการรวมชาติเกาหลี ได้หยุดการทดสอบผู้แปรพักตร์ตั้งแต่ปี 2562 แต่ในการทดสอบในช่วงปี 2560 ถึง 2561 พบว่าผู้แปรพักตร์ 9 คนจาก 40 คนมีการปนเปื้อนกัมมันตรังสีในระดับที่น่ากังวล ทั้งพบความผิดปกติทางพันธุกรรม
ข้อมูลการสำรวจสำมะโนประชากรของเกาหลีเหนือในปี 2551 แสดงให้เห็นว่า 1 ใน 6 ของครัวเรือนในจังหวัดฮัมกยองเหนือ ซึ่งเป็นที่ตั้งของปุงกเย-รี ใช้น้ำบาดาลเป็นน้ำดื่มและน้ำเพื่อการเกษตร ทั้งมีแนวโน้มการใช้น้ำบาดาลเพิ่มขึ้น
ล่าสุด กระทรวงเกาหลีใต้ระบุว่า จะพิจารณาจัดตรวจให้แก่ผู้แปรพักตร์อีกครั้ง หากมีการรายงานปัญหาสุขภาพ และร้องขอการสนับสนุนทางการแพทย์
โครงการอาวุธของเกาหลีเหนือเร่งตัวขึ้นภายใต้การนำของนายคิม จอง อึน ซึ่งกล่าวเมื่อเดือนกันยายน 2565 ว่าโครงการนิวเคลียร์ของตนเปลี่ยนแปลงจากการป้องกันเป็นการทำงานเชิงรุกเพื่อเอาชนะสงคราม
ผู้เขียนรายงานของ TJWG ระบุในรายงานว่า ผู้ปกครองของเกาหลีเหนือพยายามดึงความสนใจจากนานาประเทศไปที่ความสามารถด้านนิวเคลียร์ มีการยิงทดสอบขีปนาวุธหลายครั้ง โดยเพิกเฉยต่อสิทธิมนุษยชนในประเทศ ซึ่งหมายความว่า โครงการนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือมีบทบาทสำคัญในแง่การเมืองมากกว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เพราะในประเทศอื่นที่มีนิวเคลียร์อยู่ในครอบครอง หรือมีโครงการนิวเคลียร์ ต่างละทิ้งการทดสอบ เพราะรู้อยู่แล้วว่า ระเบิดนั้นสามารถทำงานได้จริง
นายสก็อตต์ สไนเดอร์ นักวิชาการอาวุโสด้านเกาหลีศึกษาแห่งสภาความสัมพันธ์ต่างประเทศ กล่าวว่า การทดสอบนิวเคลียร์ มีความเชื่อมโยงที่สอดคล้องกันระหว่างการได้รับรังสีและผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนใกล้เคียง ซึ่งในกรณีของเกาหลีเหนือ นักวิทยาศาสตร์ไม่มีความประหลาดใจ หากทางการจะไม่มีความใส่ใจผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
...
#นิวเคลียร์เกาหลีเหนือ
Satellite photo of North Korea's Punggye-ri nuclear test site