การบังคับพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 นับจนถึงขณะนี้ มีการบังคับใช้มานานถึง 15 ปีแล้ว จากเจตนารมณ์แรกเริ่ม ที่ต้องการให้กฎหมายฉบับนี้ เป็นเครื่องมือในการป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ คุ้มครองสุขภาพประชาชน และลดผลกระทบทางสังคม สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ นอกจากจะมีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อรับผิดชอบระดับนโยบายและการปฏิบัติแล้ว ยังได้กำหนดสถานที่ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์,ห้ามขายให้ผู้ที่อายุต่ำกว่า 20 ปีและคนเมาครองสติไม่ได้,การจำกัดวิธีการขายและห้ามส่งเสริมการขาย,ควบคุมการโฆษณา รวมถึงการบำบัดฟื้นฟูผู้ที่ติดสุราด้วย
ครบรอบ 15 ปีวันนี้ จึงมีการจัดเสวนา "มองหลากมุม 15 ปี พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์..แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง" โดยมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ หรือ มสส. เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากนักวิชาการ ภาคีเครือข่าย ภาคประชาชน รวมทั้งผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในหลากหลายด้าน
ผศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาการสุขภาพ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นักวิจัยศูนย์วิจัยปัญหาสุรา กล่าวว่า มาตรการต่างๆ ที่กำหนดในกฎหมายฉบับนี้ เป็นมาตรการเดียวกับที่องค์การอนามัยโลกกำหนด จึงเป็นมาตรการสากลที่หลายประเทศทั่วโลกใช้กัน เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และผลกระทบ ระหว่างช่วงก่อนและหลังบังคับใช้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบว่า จำนวนนักดื่มลดลง ร้อยละ 2 คือ ในปี 2550 สัดส่วนผู้บริโภคแอลกอฮอล์อยู่ที่ ร้อยละ 30 ส่วนในปี 2564 อยู่ที่ ร้อยละ 28 โดยเฉพาะในกลุ่มเพศชายที่ดื่มลดลง รวมทั้งกลุ่มอายุ 15-19 ปี และอายุ 60 ขึ้นไปก็ดื่มลดลงเช่นกัน
ส่วนผลกระทบจากการดื่มแอลกอฮอล์ เช่น เมาแล้วขับช่วงเทศกาลปีใหม่ ลดลงจากก่อนบังคับใช้กฎหมาย ร้อยละ 12.2 ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ลดลงร้อยละ 9.5 ส่วนการสำรวจความเห็นของประชาชน เมื่อเดือนมกราคมปีนี้ พบว่าประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยและสนับสนุนให้จำกัดสถานที่,จำกัดช่วงเวลาจำหน่าย และจำกัดการโฆษณาแต่เนื่องจากยุคสมัยที่เปลี่ยนไป รูปแบบสังคมและการใช้ชีวิตของประชาชนที่แตกต่างออกไป จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัยเท่าทันกับสภาพสังคม รวมทั้งการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นของภาครัฐด้วย
ด้านนายธีรภัทร์ คหะวงศ์ ผู้ประสานงานภาคีเครือข่ายป้องกันและลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวว่า เมื่อ 15 ปีที่แล้ว ภาคประชาชนกว่า 13 ล้านคน ได้ร่วมกันผลักดันจนกฎหมายฉบับนี้ออกมาบังคับใช้ แต่ก็ยอมรับว่า 15 ปีที่ผ่านมา พบปัญหาในทางปฏิบัติที่ต้องแก้ไข เช่น ธุรกิจแอลกอฮอล์ใช้ตราสัญลักษณ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปโฆษณาสินค้าประเภทอื่น เช่น น้ำดื่ม โซดา หรือที่เรียกกันว่าตราเสมือน ซึ่งยังทำให้คนนึกถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่ดี
นอกจากนี้ยังไม่มีความชัดเจนที่จะกำหนดว่า ลักษณะแบบไหนเข้าข่าย "คนเมาจนครองสติไม่ได้" รวมทั้งการขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ที่ยังพบได้ทั่วไปในร้านค้ารายย่อยและผับบาร์ ขณะที่ การเข้าถึงการบำบัดพื้นฟูของผู้ติดสุรา ก็ยังมีข้อจำกัด จึงถึงเวลาที่ต้องปรับปรุง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ทันกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ยังต้องรักษาเจตนารมณ์เดิมและไม่ทำให้กฎหมายอ่อนแอลง ซึ่งจากการพูดคุยกับกลุ่มผลักดัน พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ก็พบจุดร่วมในหลายประเด็น เช่น การลดทุนผูกขาด เรื่องการโฆษณา ปัญหาเรื่องตราเสมือน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุนสุรารายใหญ่ได้เปรียบ
ด้านนายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล ผู้ผลักดัน พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า มองว่า กฎหมายฉบับนี้มีข้อดีอยู่มาก แต่ปัญหาที่มีอยู่คือ เรื่องการบังคับใช้ เช่น การใช้ดุลยพินิจในการบังคับใช้กฎหมาย หรือความเข้มแข็ง เข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายยังไม่ทั่วถึง เท่าเทียม ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ จึงควรแก้ไขในประเด็นนี้อย่างเร่งด่วน
สำหรับมุมมองหลากหลายจากนักวิชาการ ภาคประชาชน ภาคการเมือง และเครือข่ายภาคีที่เกี่ยวข้องในครั้งนี้ จะรวบรวมนำไปใช้พิจารณาในการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้ทันต่อยุคสมัย ปิดช่องโหว่และทำให้เกิดความเท่าเทียมต่อไป
#คุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
#มสส