กทม.เตรียมพร้อมรับมือแผ่นดินไหว ทยอยติดตั้งอุปกรณ์วัดแรงสั่นสะเทือนบนอาคารสูง

22 กุมภาพันธ์ 2566, 18:44น.


       กรุงเทพมหานคร (กทม.) เตรียมความพร้อมรับมือหากเกิดเหตุแผ่นดินไหว ชี้การออกแบบอาคารตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นไป มีการรองรับแผ่นดินไหวแล้ว พร้อมเก็บข้อมูลแบบแปลนอาคาร และทยอยติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดความสั่นสะเทือนแผ่นดินไหวบนอาคารสูง ส่วนกรณีเมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหวขึ้น สถานีดับเพลิง-กู้ภัย เตรียมพร้อมทั้งเครื่องมือ-การซักซ้อมเหตุเป็นประจำทุกปี เพื่อความปลอดภัยของประชาชน นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า จากเหตุภัยพิบัติแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในประเทศตุรกีและซีเรีย นับว่าเป็นภัยพิบัติที่ทำให้ประชาชนวิตกกังวลว่า หากมีเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นในกทม. ซึ่งมีตึกสูงจำนวนมาก หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านภัยพิบัติ จะมีมาตรการรองรับเหตุการณ์ลักษณะนี้อย่างไร ในกทม. มีอาคารที่เข้าข่ายการบังคับตามกฎกระทรวง กำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคาร และพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ.2550 และ พ.ศ.2564 จำนวน 3,028 หลัง ซึ่งได้รับการออกแบบตามเกณฑ์การบังคับของกฎหมายแล้ว และมีอาคารเก่าที่ก่อสร้างก่อนกฎหมายบังคับใช้ จำนวน 10,386 หลัง



       นอกจากนี้ กทม. ยังได้มีการเก็บข้อมูลแปลนอาคาร และสั่งการให้ทยอยติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดความสั่นสะเทือนแผ่นดินไหวบนอาคารสูง อาคารก่อนปี 2550 ซึ่งจะมีการจัดกลุ่มก่อน และเริ่มที่อาคารสาธารณะที่กทม. และภาครัฐดูแล เช่น โรงพยาบาล และถ้าข้อมูลมีมากขึ้นก็จะนำข้อมูลนี้แนะนำไปที่เจ้าของอาคาร โดยจะไม่บังคับใช้กฎหมายย้อนหลัง แต่จะประเมินความเสี่ยงจากข้อมูลปัจจุบัน



          นายสุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงความเสี่ยงในการเกิดแผ่นดินไหวในกทม. ว่า ประเทศไทยไม่อยู่ในพื้นที่แนวรอยต่อของแผ่นเปลือกโลก โดยรอยเลื่อนที่ใกล้ที่สุด คือ แถวทะเลอันดามัน และประเทศเมียนมา ดังนั้น ความเสี่ยงในการเกิดแผ่นดินไหวจึงมีน้อย



          จากการสำรวจในไทยมีรอยเลื่อนทั้งหมด 16 รอยเลื่อนใหญ่ และรอยเลื่อนของไทยในภาพรวมไม่ถึง 8 ริกเตอร์ โดยรอยเลื่อนที่ใกล้ กทม. มากที่สุด อยู่ที่กาญจนบุรี ซึ่งก็มีโอกาสสร้างความรุนแรงต่อ กทม.ได้ เนื่องจาก กทม.มีดินอ่อน ทำให้สามารถรับรู้และขยายสัญญาณแผ่นดินไหวได้มากกว่าปกติ ส่งผลให้อาคารใน กทม. รับรู้แรงสั่นสะเทือนหรือเสียหายได้



          นายภุชพงศ์ สัญญโชติ หัวหน้าสถานีดับเพลิงและกู้ภัย ลาดยาว กรุงเทพมหานคร (ทีม USAR Thailand) กล่าวว่า แม้ในกทม.จะไม่เคยเกิดเหตุแผ่นดินไหวแบบจริงจัง แต่กทม. เคยเกิดเหตุการณ์อาคารถล่มจากปัจจัยอื่น ซึ่งการเข้าถึงที่เกิดเหตุให้เร็วที่สุดสำคัญมาก ปัญหาคือไทยมีหน่วยงานหลายฝ่าย มีหลายครั้งที่หน่วยงานอื่นที่ไม่ได้มีการบังคับใช้กฎหมายเข้าไปในพื้นที่ก่อน จึงอาจเกิดเหตุเพิ่มได้ ดังนั้น ต้องปรับที่การเรียนรู้ของประชาชนว่า ควรแจ้งเหตุหน่วยงานให้ตรงวัตถุประสงค์ มีอำนาจหน้าที่โดยตรง เพื่อความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน



 



#แผ่นดินไหว



#กรุงเทพมหานคร



 

ข่าวทั้งหมด

X