กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัยคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)เกี่ยวกับการคำนวณสัดส่วนประชากรต่อการแบ่งเขตเลือกตั้ง จะนับรวมคนต่างด้าวด้วยหรือไม่ โดยนัดอภิปรายหารือ และลงมติวันที่ 3 มี.ค.นี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หากเป็นไปตามนั้นจริง ถือว่าเป็นการดี ส่วนจะกระทบไทม์ไลน์เลือกตั้งหรือไม่ ยังไม่รู้ เพราะยังไม่รู้ว่า คำวินิจฉัยจะออกมาอย่างไร แต่จากการหารือกับ กกต.ทราบว่าได้เตรียมแผนไว้ทุกรูปแบบ หากคำวินิจฉัยระบุว่า ให้นับคนที่ไม่มีสัญชาติไทยรวมด้วยนั้นถูกต้องแล้ว กกต.ก็เดินแผนหนึ่ง ถ้าไม่ถูกก็เดินอีกแผนหนึ่ง ซึ่งทั้งหมดอยู่ในกรอบเวลาที่คิดไว้
ส่วนกรอบเวลาวันเลือกตั้ง ยังเป็นวันที่ 7 พ.ค.นี้ นายวิษณุ กล่าวว่า มีความเป็นไปได้มากที่สุด เหมือนที่เคยอธิบายไว้ว่าการเลือกตั้งต้องเป็นวันอาทิตย์ ห่างจากวันยุบสภาไม่เกิน 60 วัน เร็วเกินไปไม่ได้ และช่วงเวลาที่ดีที่สุด คือกว่า 50 วัน จะตกวันที่ 7 พ.ค.นี้ ไม่ว่าจะยุบสภาวันใดก็ตาม แต่หากจะให้เร็วกว่าวันที่ 7 พ.ค. จะไปตรงกับวันที่ 30 เม.ย.ซึ่งก็ทำได้ แต่อาจจะเหลือเวลาหาเสียงได้สั้นลง ส่วน ส.ส.ที่เตรียมการย้ายพรรค ขณะนี้ยังทำได้เพราะการสังกัดพรรคการเมืองใหม่ในกรณีที่ยุบสภา กฎหมายกำหนดว่า ต้องสังกัดพรรคการเมืองไม่น้อยกว่า 30 วัน นับจนถึงวันเลือกตั้ง
สำหรับการทำงานช่วงรัฐบาลรักษาการ นายวิษณุ กล่าวว่า ข้าราชการต้องทำงานตามปกติเพราะไม่เกี่ยวอะไรกับใคร จะเลือกตั้งใหม่ หรือตั้งรัฐบาลใหม่ไม่เกี่ยวกับข้าราชการประจำ ยังต้องทำงานตามปกติ แต่สิ่งที่ต้องเตือน คือข้าราชการการเมือง เช่นเดียวกับการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรักษาการ จะไม่นับรวมการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าการดำรงตำแหน่ง 8 ปี ของนายกรัฐมนตรี ไม่นับรวม ถึงระยะเวลารักษาการ
#เลือกตั้ง66
แฟ้มภาพ