จากกรณีที่ พญ.วรัญญา งานทวี หรือ หมอลิลลี่ โพสต์เตือนภัยว่าตนเองถูกตัดเงินจากบัตรเครดิตของธนาคารแห่งหนึ่ง จำนวน 2,675 ดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 90,000 บาท โดยระบุยอดว่า ตัดจาก TikTok Ads ซึ่งคุณหมอลิลลี่ ยืนยันว่า ตัวเองไม่เคยผูกบัตรใดๆกับ TikTok และเคยแต่ส่ง Generation code ให้คนอื่นบูสต์ให้ และไม่ได้ยิงแอดเอง
คุณหมอบอกว่า พบความผิดปกติขณะกำลังเล่นโทรศัพท์มือถือ แล้วมีการแจ้งยอดใช้บัตรเครดิตเข้ามาจากธนาคาร ทำให้ตกใจมาก เพราะในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ไม่ได้ใช้บัตรใบนี้เลย ตอนแรกคุณหมอคิดว่าเป็นสแปม จึงไปดู sms ที่ส่งมา พบว่าเป็นของธนาคารจริงๆ เมื่อเข้าไปดูในแอปพลิเคชันของธนาคาร ก็พบว่าเงินถูกตัดไปจริงๆ จึงรีบโทรแจ้งธนาคาร ทางธนาคารบอกว่าจะอายัดบัตรให้ แต่ยังไม่สามารถปฏิเสธยอดได้ ต้องรอวันจันทร์จึงจะตามเรื่องให้ได้
คุณหมอบอกว่า ตอนแรกคิดว่าโดนคนเดียว จึงโพสต์เฟซบุ๊กเพื่อขอความช่วยเหลือ ปรากฏว่า มีคนทักเข้ามาว่าโดนเหมือนกัน โดยตัดเงินในเวลาใกล้เคียงกันจากบัตรเครดิตของธนาคารเดียวกัน เพียงแต่คนที่โดนไม่มีบัญชี TikTok และตอนถูกตัดก็ไม่มีข้อความแจ้ง ไม่มีการให้กรอกรหัส OTP ด้วย นอกจากนี้ คุณหมอยังบอกว่า โทรหาคอลเซ็นเตอร์ของธนาคาร ทางธนาคารเองก็ยอมรับว่า มีเคสที่ถูกตัดเงินจาก TikTok Ads เช่นกัน และถือบัตรเครดิตรุ่นเดียวกับคุณหมอด้วย ซึ่งคุณหมอเกรงว่าจะไม่ได้เงินคืน เพราะธนาคารอื่น หากเจอกรณีแบบนี้ ก็จะมีการ Hold ยอดเงินไว้ และปรับยอดให้ลูกค้าทันที แต่ธนาคารนี้กลับบอกให้รอติดตามเรื่องภายใน 7 วันทำการ
ด้าน พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษกกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) หรือ ตำรวจไซเบอร์ เปิดเผยว่า ช่วงนี้มีผู้เสียหายที่ถือบัตรเครดิตแล้วถูกหักเงินชำระค่าโฆษณาสื่อสังคมออนไลน์โดยไม่ทราบสาเหตุหลายราย ซึ่งผู้เสียหายยืนยันว่า ไม่ได้ทำธุรกรรมดังกล่าว ไม่เคยผูกบัตรเครดิตไว้กับแอปพลิเคชันใดๆ และในการถูกหักเงินออกจากบัตรเครดิตก็ไม่ได้รับรหัส OTP เพื่อยืนยันการทำธุรกรรม รวมไปถึงไม่พบการพยายามเข้าถึงระบบ (Login) ของแอปพลิเคชันดังกล่าวด้วย
ทางกองบังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ตอท.) ได้ตรวจสอบหาสาเหตุของการหลอกลวงในรูปแบบดังกล่าว พบว่ามักจะเกิดได้จาก 2 กรณีหลัก คือ
-กรณีแรก เกิดจากการที่ผู้เสียหายเผลอให้ข้อมูลบัตรกับมิจฉาชีพ ไม่ว่าจะเป็นการถูกหลอกลวงให้เข้าไปกรอกข้อมูลทางการเงินผ่านเว็บไซต์ปลอม หรือแอปพลิเคชันปลอม หรือการให้บัตรเครดิตไปกับผู้อื่นเพื่อทำธุรกรรมการเงินในชีวิตประจำวัน แล้วบุคคลนั้นนำข้อมูลที่ได้ไปใช้แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ เป็นต้น
-กรณีที่สองอาจจะเกิดจากการที่ผู้เสียหายกดลิงก์ติดตั้งแอปพลิเคชันปลอม หรือลิงก์โฆษณาต่างๆ ที่ฝังมัลแวร์ดักรับข้อมูลของมิจฉาชีพ ซึ่งจะต้องนำโทรศัพท์ของผู้เสียหายแต่ละรายมาตรวจสอบโดยละเอียดอีกครั้ง เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงว่าเกิดจากสาเหตุใด เช่น ตรวจสอบการใช้งานโทรศัพท์ว่า ก่อนเกิดเหตุผู้เสียหายได้ทำธุรกรรมใดหรือไม่ หรือผู้เสียหายติดตั้งแอปพลิเคชันใดบ้าง เป็นต้น
ตำรวจไซเบอร์จึงแนะนำประชาชน ให้ระมัดระวังการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลทางการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลเลขหลังบัตรเครดิต หรือเดบิตร (CVV) หรือรหัสเพื่อยืนยันความปลอดภัยในการชำระค่าสินค้าหรือบริการผ่านเว็บไซต์ หรือช่องทางออนไลน์ต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ โดยมีแนวทางป้องกัน คือ
1.หากไม่จำเป็นไม่ควรใช้บัตร ไม่เปิดเผยข้อมูลบัตรให้ผู้อื่นล่วงรู้ และอย่าให้บัตรคลาดสายตาเมื่อต้องใช้บัตร ป้องกันการถูกลักลอบนำข้อมูลไปใช้
2.หลีกเลี่ยงการทำธุรกรรมที่ไม่น่าเชื่อถือออนไลน์ ที่ต้องกรอกข้อมูลเลขด้านหน้าบัตร และรหัส 3 ตัวหลังบัตร (CVV)
3.หลีกเลี่ยงการกดลิงก์ หรือติดตั้งแอปพลิเคชันที่ไม่รู้จัก ไม่รู้ที่แหล่งมา ควรติดตั้งผ่าน AppStore หรือ Playstore เท่านั้น
4.ระมัดระวังการกรอกข้อมูลหมายเลขบัตรผ่านเว็บไซต์ปลอม หรือแอปพลิเคชันปลอม ที่มิจฉาชีพสร้างขึ้นมาให้เหมือนกับเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชันจริง เพื่อหลอกเอาข้อมูล โดยหากต้องการเข้าไปที่เว็บไซต์ใด ให้พิมพ์ชื่อเว็บไซต์ด้วยตัวเองเท่านั้น
5.หากต้องการซื้อสินค้า หรือบริการประเภทดังกล่าว ควรใช้บัตรเดบิต โดยการโอนเงินเข้าบัตรเพื่อชำระสินค้าหรือบริการเท่าที่จะชำระโดยเฉพาะ
6.ตั้งค่าการแจ้งเตือนการทำรายการผ่านข้อความสั้น (SMS) หรือแอปพลิเคชันไลน์ (Line)
7.ไม่บันทึกรายละเอียดบัตรไว้กับเบราว์เซอร์ เช่น Chrome, Firefox หรือ Safari โดยเด็ดขาด
8.ควรนำแผ่นสติกเกอร์ทึบแสงปิดรหัส 3 ตัวด้านหลังบัตร (CVV) แล้วจำรหัส 3 ตัวดังกล่าวเอาไว้ เพื่อความปลอดภัยในการใช้จ่ายประจำวัน
9.หมั่นตรวจสอบรายการบัญชีอย่างสม่ำเสมอ หากพบสิ่งผิดปกติให้รีบแจ้งไปยังสถาบันการเงิน เพื่อทำการอายัดบัตร และปฏิเสธการชำระเงินค่าสินค้า หรือบริการทางออนไลน์โดยทันที
#ถูกตัดเงินจากบัตรเครดิต
#หมอลิลลี่
#ตำรวจไซเบอร์