หลังการประชุมร่วมกันของแม่น้ำ 5สาย ที่ประกอบด้วย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาปฏิรูปแห่งชาติ และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ด้านกฎหมาย กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ไม่กังวลว่าต่างชาติจะไม่รับรัฐธรรมนูญที่จะเกิดขึ้น แต่รัฐธรรมนูญนี้จะต้องเป็นที่ยอมรับของคนไทยและนานาชาติไปพร้อมกัน เพราะหากเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาในประเทศได้ก็ไม่ดี ซึ่งจะต้องมีการหารือกับกรรมาธิการยกร่างฯต่อไป ส่วนการที่จะเชิญนานาชาติมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศ ที่ประสบความสำเร็จในการบริหารประเทศหลังมีรัฐธรรมนูญนั้น เนื่องจากเห็นว่าบางประเทศนั้นมีประสบการณ์เช่นเดียวกับประเทศไทย และสามารถแก้ไขปัญหาด้านต่างๆได้ดี จึงจะมีการเชิญมาเพื่อพูดคุยถึงวิธีการแก้ปัญหาต่างๆ รวมถึง ไม่ได้มองว่า จะเชิญประเทศไหนมาเป็นพิเศษ เพียงแต่อยากให้ทันก่อนการร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ นอกจากนี้ในที่ประชุมวันนี้ ก็ยังไม่มีการทักทวงเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด มีเพียงแต่การให้กำลังใจการทำงานแก่กรรมาธิการยกร่างฯ เท่านั้น
นายวิษณุ ยังกล่าวถึงการใช้มาตรา 44 ด้วยว่า ข้าราชการบางส่วนเข้าใจว่าบางเรื่องจำเป็นต้องใช้มาตรา 44 เช่น การจัดการเขตเศรษฐกิจพิเศษ ,การบินพลเรือน ,การตัดไมัทำลายป่า ซึ่งความเป็นจริงอาจไม่ต้องใช้มาตรา 44 หากกฎหมายปกติสามารถดำเนินการได้รวดเร็ว ซึ่งส่วนตัวยืนยันว่า มาตรา 44 ไม่ได้เป็นภัยกับใคร เป็นเพียงกฎระเบียบการบริหารราชการแผ่นดินที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรี ซึ่งมองว่ากฎหมายทั่วไปไม่เพียงพอต่อการบริหารประเทศ มาตรา 44 เป็นเพียงที่มาของอำนาจ ที่จะต้องตั้งเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติ ขณะนี้ถึงเวลาที่ควรจะเลิกพูดถึงมาตรา 44 ได้แล้ว ซึ่งมาตรา 44 ตอนนี้ใช้เพียง 4 ประเภทเท่านั้น ซึ่งไม่ได้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทั่วไป มีเพียงเจ้าหน้าที่ที่แต่งตั้งเท่านั้น และไม่ได้ใช้ในทุกพื้นที่ของประเทศไทย
ส่วน นายเจษฎ์ โทณะวนิก กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เสนอให้ใช้อำนาจตามมาตรา44 ในการเปิดช่องให้ทำประชามติในการร่างรัฐธรรมนูญนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า สามารถทำได้ แต่จะไม่เป็นกลาง ถ้าแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 จะมีความชอบธรรมกว่า แต่เห็นด้วยที่ควรทำประชามติเป็นรายมาตรา เพื่อไม่ให้ร่างรัฐธรรมนูญถูกคว่ำทั้งฉบับ